ฤดูเก็บเกี่ยว กาแฟ
หายไปหลายวันครับด้วยถึงเวลาต้องไปเยี่ยมสวนกาแฟแล้ว เนื่องจากช่วงนี้ของทุกปีเป็นช่วงที่กาแฟทยอยสุกและชาวสวนเริ่มกระบวนการผลิตอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแต่ในประเทศเราเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศปลูกกาแฟส่วนใหญ่ทั่วโลกด้วยถือเป็นช่วงเวลาที่คนกาแฟต้องยุ่งที่สุดช่วงหนึ่งของปี ในทริปนี้ผมได้ไปทั้งดอยช้างที่เชียงราย และดอยสะเก็ดที่เชียงใหม่ ไปคราวนี้ได้เจาะดูรายละเอียดในกระบวนการเก็บเกี่ยวและการทำสารมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันในฐานะที่เราเป็นคนคั่วกาแฟซึ่งจะต้องสัมผัสเมล็ดกาแฟเกือบทั้งปีปัญหาใหญ่ๆ ในปีที่ผ่านมาเช่นความชื้นที่มากเกินไปจนทำให้เมล็ดบวมและซีด เควกเกอร์ เมล็ดมีแผล ควรจะต้องลดลง ปัญหาหลายอย่างในแหล่งปลูกยังคงยากต่อการแก้ไข เช่นสถานที่ตากไม่เพียงพอ การเก็บเกี่ยวอย่างปราณีตทำได้ยากเนื่องจากต้องจ้างแรงงาน เครื่องจักรที่ใช้เช่นเครื่องลอกเปลือกหรือแม้แต่เครื่องสีของบางบ้านส่วนใหญ่ถูกสร้างมาเพื่อใช้กับกาแฟโรบุสต้าแต่ไม่เหมาะกับการใช้กับอราบิก้าซึ่งผ่านกระบวนการที่ต่างกัน การแก้ปัญหาเหล่านี้ล้วนต้องใช้ความคิด บางครั้งต้องใช้เงินทุน แต่ที่สำคัญที่สุดผมคิดว่าต้องใช้ความตั้งใจและแรงบันดาลใจอย่างมาก หากเท่าที่สัมผัสคู่ค้าผู้ปลูกหลายๆ คน แววตายังสะท้อนความตั้งใจและความพยายามในการปรับปรุงคุณภาพอยู่พลอยทำให้คนคั่วเล็กๆ อย่างเรามีความหวังและกำลังใจ
ไปด้วยไปเยี่ยมสวนกาแฟที่ดอยช้างปีนี้สังเกตเห็นต้นกาแฟที่ออกผลสุกสีเหลืองหลายต้น สอบถามคนปลูกยังไม่ได้คำตอบว่าเป็นพันธุ์อะไรกันแน่ ความจริงนั้นเรื่องพันธุ์กาแฟที่มีปลูกอยู่ในจังหวัดทางภาคเหนือได้รับการส่งเสริมจากศูนย์วิจัยต่างๆ แต่ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือการจัดการสวนยังไม่ดีพอไม่มีการควบคุมเรื่องพันธุ์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ปลูกไม่ทราบว่าในสวนของตัวเองนั้นมีพันธุ์อะไรอยู่บ้าง จากเชอรี่สีเหลืองสวยสุกใสจูงใจให้ผมลองค้นเอกสารเก่าๆ ดู พบว่าพันธุ์กาแฟที่สามารถให้ผลสุกสีเหลืองนั้นมีอยู่หลายพันธุ์ เช่น เบอร์บอน คาทูร่า และคาทูย หากเป็นที่ทราบกันว่าอราบิก้าในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ลูกผสมที่เรียกว่าคาติมอร์(ไฮบริโดเดอติมอร์ผสมกับคาทูร่า) เนื่องเพราะทนต่อโรคราสนิมได้ดีกว่า และจากบทความเรื่องพันธุ์กาแฟของอาจารย์อาภรณ์ ธรรมเขต ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2528 ได้ให้ข้อมูลไว้จนอาจเชื่อได้ว่าต้นกาแฟที่ผมเห็นนั้นมีโอกาสที่จะเป็นลูกผสมระหว่างคาทูย อมาเรโล(ซึ่งให้ผลสุกสีเหลือง) กับคาติมอร์อีกทีหนึ่งเรื่องพันธุ์กาแฟถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีผลกับรสชาติไม่แพ้เรื่องของกระบวนการผลิต น่าเสียดายที่งานวิจัยจากส่วนราชการมีงบประมาณไม่มากและขาดแคลนบุคลากรไม่มีระบบที่สามารถทำงานอย่างต่อเนื่องได้ อาจารย์อาภรณ์เคยเล่าให้ฟังว่าการพัฒนาพันธุ์กาแฟนั้นต้องใช้การทดลองอย่างอดทนและต้องใช้เวลามาก ต้องรอให้สายเลือดนิ่งเป็นรุ่นๆ ไป ต้องทำกันต่อเนื่องเป็นสิบๆ ปี หากไม่มีการสนับสนุนอย่างจริงจังย่อมทำไม่ได้ ชาวสวนหลายรายต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการเพาะกล้ากาแฟไว้ใช้เองจึงไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าพันธุ์กาแฟที่ใช้นั้นเป็นพันธุ์อะไรแน่ ทำให้ยากต่อการจัดการและควบคุมคุณภาพ เรื่องนี้ถือว่าเกินกว่าที่ผมจะช่วยเหลืออะไรได้ครับ จึงขอไปเพียงว่าให้ช่วยแยกจำเพาะเมล็ดกาแฟสุกสีเหลืองมาสักจำนวนหนึ่งแล้วเราจะลองทดสอบรสชาติจากโต๊ะ cupping ว่ามีบุคลิกที่แตกต่างและน่าสนใจหรือไม่ เพื่อที่จะทดลอง clone ไว้ใช้ในการขยายแปลงปลูกต่อไป
ที่มา :