26.2.09

วิตามินที่อยู่ในกาแฟ

วิตามินที่อยู่ในกาแฟ

วิตามินที่อยู่ในกาแฟ ใครที่ชอบดื่มกาแฟเป็นประจำ ทราบหรือไม่ว่า กาแฟก็มีวิตามินเหมือนกัน วันนี้เกร็ดความรู้มีเรื่องนี้มาฝากกัน.... วิตามินที่พบในกาแฟ คือ ไทอามิน (B1) ไรโมฟลามิน (B2) ไนอาซินไฟริด้อกซิน (B6) กรดเพนโตเทนิค กรดโฟสิคไดบาลามิน (B12) โคลิน กรดแอสดอร์บิก ถึงแม้วิตามินที่พบในกาแฟอาจมีปริมาณไม่มากเท่ากับอาหาร แต่ก็ถือว่ากาแฟก็ยังให้ประโยชน์แก่ร่างกายเหมือนกัน การดื่มกาแฟในปริมาณที่ไม่มาก (250-600 มิลลิกรัมต่อวัน) ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ก่อให้เกิดโรคร้ายด้วย รู้อย่างนี้แล้ว หันมาดื่มกาแฟกันดีกว่า แต่ก็ไม่ควรดื่มมากจนเกินไปเพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้.

ที่มา : หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์

24.2.09

ความรู้สุขภาพเรื่องกาแฟ

ความรู้สุขภาพเรื่องกาแฟ

หลังจากตื่นนอนตอนเช้าได้กาแฟหอมๆ สักแก้วจะรู้สึกกระชุ่มกระชวยตลอดเช้า บางท่านรับกาแฟและขนมเป็นอาหารเช้า หลังจากทำงานก็ยังมี coffee break บางท่านยังดื่มหลังอาหารเที่ยงและตอนสายๆ ยิ่งต้องเข้าประชุมกาแฟหอมๆ สักแก้วจะทำให้สดชื่นหายง่วง จะเห็นได้ว่ากาแฟเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แต่จะมีใครกังวลหรือไม่ว่าเราดื่มทุกวันวันละหลายแก้วแล้วมันมีโทษ หรือคุณประโยชน์อะไรบ้าง” ส่วนประกอบที่สำคัญของกาแฟ กาแฟ คือ caffeine ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของยาขยายหลอดลม theophylline caffeine สามารถพบได้หลายชนิดได้แก่ เมล็ดคา เมล็ดกาแฟ ใบชา โคลา Caffeine ถูกผสมลงในน้ำอัดลม ยาแก้หวัดบางชนิด ยาแก้ปวด ยาลดน้ำหนัก กาแฟจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วหลังจากที่เราดื่มกาแฟ และจะถูกขับออกไปครึ่งหนึ่งในเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง กาแฟจะไม่สะสมในร่างกายโดยจะถูกทำลายและขับออกหมด ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีการขับถ่ายกาแฟมากกว่าผู้ที่ไม่สูบ ดังนั้นคนที่สูบบุหรี่หากต้องการการกระตุ้นของกาแฟจะต้องดื่มกาแฟบ่อยกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ คนท้องและผู้ที่กินยาคุมกำเนิดจะมีการขับกาแฟน้อยกว่าคนทั่วไป กาแฟจะออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นสมองทำให้รู้สึกสดชื่นและมีสมาธิ


ผลดีของกาแฟ จะช่วยในการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ที่ดื่มกาแฟจะทำให้ไม่ง่วงนอน มีสมาธิในการทำงาน และยังทำให้ความสามารถในการทำงานดีขึ้น และยังลดอาการปวดเมื่อยเนื่องจากไข้หวัด ผลต่อสมรรถภาพของร่างกายดีขึ้น เช่น การขี่จักรยาน การว่ายน้ำ เล่นกีฬาได้นานขึ้น กระตุ้นอวัยวะของร่างกายและเพิ่มการเผาผลาญไขมันและช่วยลดน้ำหนักได้ด้วยกาแฟมีฤทธิ์ขับ ปัสสาวะอ่อนๆ ดังนั้นขณะออกกำลังกาย หรือหลังออกกำลังกายไม่ควรรับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาแฟ เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ ดื่มนานๆ จะติดกาแฟหรือไม่ ไม่มีหลักฐานว่ากาแฟจะเป็นสารเสพติด การดื่มกาแฟจะเป็นนิสัยมากกว่าเสพติดเนื่องจากไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณของกาแฟและเมื่อหยุดกาแฟ บางคนก็เกิดอาการปวดหรือมึนศีรษะ เพียงเล็กน้อย

ผลดีของการดื่มกาแฟ
- การดื่มกาแฟวันละ
1แก้วจะลดอาการหอบหืดหากดื่มมากกว่า
2แก้วการทดสอบสมรรถภาพปอด จะดีขึ้น กาแฟก็เหมือนกับพืชอื่นๆ มีสาร flavanoid ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
- การดื่มกาแฟจะลดอาการง่วงนอนและทำให้มีสมาธิในการทำงานดีขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่ทำงาน เป็นกะและลดอุบัติเหตุขณะขับขี่
- กาแฟช่วยลดอาการซึมเศร้าและคลายความวิตกกังวล
- การดื่มกาแฟเป็นประจำจะลด (อุบัติการณ์) การเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และยังลด (การเกิดอุบัติการณ์) ของนิ่วในถุงน้ำดี
- การดื่มกาแฟมีผลดีต่อการป้องกันมะเร็งตับอ่อนเล็กน้อยและช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ที่มา : healthcorners.com

22.2.09

เรื่องน่ารู้ก่อนลงมือ

เรื่องน่ารู้ก่อนลงมือ

โดยทั่วไปแล้ว เมนูกาแฟที่พบเห็นกันอยู่โดยทั่วไป มักจะมีเอสเปรสโซ่ เป็นส่วนผสมหลัก ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มลงมือปรุงกาแฟสูตรต่างๆ จึงควรทำความรู้จักกับเอสเปรสโซ่กันก่อน

เอสเปรสโซ่ (Espresso) คืออะไร?
ในภาษาอิตาเลี่ยนคำว่า เอสเปรสโซ่ มีความหมายอย่างน้อยถึง 2 ความหมายด้วยกัน

ความหมายแรก คือ Express คือความเร็ว

ความหมายที่ 2 หมายถึง เป็นพิเศษ หรือทำขึ้นเฉพาะ

ดังนั้น เมื่อรวมความหมายเข้าด้วยกันแล้ว กาแฟเอสเปรสโซ่จึงมีความหมายว่า กาแฟที่ถูกชงและเสิร์ฟอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษสำหรับคุณ ในแง่ของคุณลักษณะแล้ว เอสเปรสโซ่คือเครื่องดื่มที่ต้องผ่านกรรมวิธีอันละเอียดและซับซ้อน จากกาแฟที่ได้รับการผสมผสานรสชาติขึ้นมาเป็นพิเศษ คั่วอย่างเข้ม บดอย่างละเอียด กดอย่างแน่น ชงอย่างเร็วโดยใช้แรงดันสำหรับแต่ละถ้วยเอสเปรสโซ่ จะมีรสชาติขมปนหวาน ลื่นคอ ละมุนละไม จากรสแท้ของเมล็ดกาแฟที่ดีถือได้ว่าเป็นรสชาติที่แตกต่างไม่สามารถหาได้จากกาแฟชนิดอื่น ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวเอสเปรสโซ่ จึงถูกดัดแปลงให้กลายเป็นกาแฟสูตรต่างๆที่นิยมกันในปัจจุบัน


หัวใจของเอสเปรสโซ่ คือ ครีม (Crema) หรือฟองกาแฟที่ลอยอยู่ด้านบนอันเกิดจากการชงภายใต้แรงดันสูงสีทองอร่ามของกาแฟสามารถบ่งบอกถึงรสชาติของกาแฟถ้วยนัน้ๆได้ว่าจะเป็นอย่างไร ฟองครีมที่มีสีน้ำตาลเข้มจัด อาจเกิดจากการใช้น้ำที่มีความร้อนสูงเกินไป น้ำร้อนผ่านผงกาแฟนานเกินไป ผงกาแฟละเอียดเกินไป เมล็ดกาแฟคั่วเข้มเกินไป หรือใช้ผงกาแฟมากเกินไป เช่นเดียวกัน หากฟองกาแฟที่ชงมีสีอ่อนเกินไป อาจเกิดจากการที่น้ำร้อนผ่านผงกาแฟนานเกินไป และผงกาแฟหยาบเกินไปจนน้ำยังไม่สามารถละลายสารต่างๆ ในกาแฟออกมาได้อย่างครบถ้วน หรืออาจเกิดจากการใช้เมล็ดกาแฟคั่วที่เก่าจนเกินไป หรือความร้อนของน้ำที่ใช้ต่ำเกินไป

ดังนั้น ถ้าเอสเปรสโซ่ถ้วยใดมีครีมสีน้ำตาลทอง เนื้อละเอียด แน่นสวย พึงรู้ได้เลยว่า สวรรค์ของคอกาแฟรออยู่เบื้องหน้าแล้ว

ถ้วยกาแฟ

การดื่มกาแฟให้อร่อยนั่นถ้วยกาแฟมีส่วนสำคัญอย่างมาก ซึ่งถ้วยกาแฟที่ดีควรมีความหนาที่พอเหมาะหรือประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ก้นถ้วยสอบและแคบกว่าปากแก้ว


ส่วนวัสดุที่ใช้นั้นไม่ควรดูดซับความร้อนจากกาแฟมากเกินไป และไม่ควรก่อให้เกิดกลิ่น หรือทำให้กลิ่นกาแฟผิดเพี้ยนไป เพราะอาจทำให้รสชาติของกาแฟเปลี่ยนไปได้

วัสดุที่เหมาะสม :พอร์ซเลน (Porcelain) เซรามิคเนื้อดีเยี่ยม สีขาว เคลือบผิวเป็นมัน โปร่งแสง มีความแข็งแกร่งเหมือนแก้วไม่ดูดซึมน้ำ เคาะมีเสียงดังกังวาน
วัสดุที่ใช้ได้แต่ไม่ ค่อยเหมาะสม : เซรามิค
วัสดุที่ไม่ควรใช้ :ดินเผา, ไม้

ชนิดของถ้วยกาแฟ

ถ้วย Hot Coffee: มีขนาดตั้งแต่ 7-9 ออนซ์ แต่ที่เหมาะสมที่สุดเห็นจะเป็นขนาด 7 ออนซ์ เพราะเป็นขนาดที่ลงตัวกับสัดส่วนความอร่อยในการปรุงกาแฟสูตรต่างๆ
ถ้วย Mug: ขนาดโดยทั่วไป คือ 12 ออนซ์ นิยมใช้สำหรับดื่มกาแฟที่ชงด้วยเครื่องชงแบบกรอง (Filter) เป็นการดื่มกาแฟสไตล์อเมริกัน

ถ้วย Espresso: โดยมากที่ผลิตกันอยู่ในประเทศไทยจะมีขนาด 4 ออนซ์
ถ้วย Latte: ขนาดปกติคือ 12 ออนซ์ ทำจากแก้วใส ตัวถ้วยมีขาเป็นก้าน มีหูสำหรับจับใช้ สำหรับกาแฟสูตรที่มีนมเป็นส่วนผสมและเสิร์ฟสไตล์ฝรั่งเศส

โฟมนม

นอกจากกาแฟคุณภาพเยี่ยมและถ้วยกาแฟที่เหมาะสมแล้ว ฟองนม หรือ โฟมนม ถือได้ว่าเป็นการบำรุงเสน่ห์เพิ่มความหอม อร่อย ให้กับกาแฟถ้วยโปรดของคุณได้เช่นกัน ขั้นตอนการเป่าโฟมนม มีดังนี้

1.เทนมเย็นใส่ภาชนะหรือเหยือกสำหรับเป่าโฟมนมประมาณ 1/3 ของภาชนะ (ไม่ควรเกินครึ่งหนึ่งของภาชนะ)
2.เปิดสวิตช์ท่อไอน้ำเพื่อไล่น้ำที่ค้างท่ออกแล้วค่อยๆเบาสวิตช์ปล่อยให้มีเพียงไอน้ำเบาๆออกจากท่อ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้นมถูกดูดกลับเข้าไปในบอยเลอร์เครื่องชง
3. จุ่มท่อไอน้ำลงไปในเหยือกนม ให้เฉพาะส่วนปลายของท่อในนม (ประมาณ 1/2- 1 นิ้ว) เปิดสวิตช์ท่อไอน้ำเต็มที่
4.ค่อยๆ ลดระดับเหยือกนมให้ต่ำลงเพื่อให้ปลายของท่อไอน้ำอยู่เพียงใต้ผิวหน้าของนมเท่านั้น เราจะได้ยินเสียงซี้ดและนมจะเริ่มเป็นโฟม ถ้าจุ่มลึกเกินไปจะไม่มีเสียงซี้ดและจะไม่ก่อให้เกิดโฟม ถ้าจุ่มตื้นเกินไปนมจะกระเด็นออกมาข้างนอก
5. หลังจากนมเริ่มเป็นโฟม ค่อยๆขยับเหยือกนมให้สูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ปลายของท่อไอน้ำจุ่มอยู่ใต้ผิวหน้าของนมอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งปริมาณนมเพิ่มขึ้นมาถึงระดับ 1/2 ของเหยือกให้คอยฟังเสียงซี้ดหรือเสียงฟู่ ถ้าไม่ได้ยินหรือได้ยินเป็นเสียงทึบๆแสดงว่าปลายท่ออยู่ลึกเกินๆไป
6.เมื่อนมเพิ่มถึงระดับ 1/2 ของเหยือกแล้วให้จุ่มท่อไอน้ำลงไปจนถึงสุดเพื่อทำให้นมที่ยังเหลืออยู่ร้อน แต่ต้องระวังอย่าให้นมเดือดเพราะจะทำให้โฟมนมที่เป่าได้ในตอนแรกหายไป ระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ ระหว่าง 57-65 องศาเซลเซียส หรือ 135 – 150 องศาฟาเรนไฮต์
7.โฟมที่ได้ในตอนแรกอาจมีขนาดใหญ่และไม่คงที่ ไม่เนียน ให้จุ่มปลายท่อไอน้ำลึกลงไปในน้ำนมสักครู่ และดึงกลับมาอยู่ที่เพียงใต้ผิวของนมอีกครั้ง ทำซ้ำเรื่อยๆ จนกระทั่งได้โฟมเนียนละเอียด
8.เมื่อได้โฟมตามที่ต้องการ ปิดสวิตช์ท่อไอน้ำ ดึงเหยือกนมออกและเปิดสวิตช์ท่อไอน้ำอีกครั้งเพื่อไล่น้ำนมที่ค้างอยู่ในท่อออกจากนั้นให้ใช้ผ้าเปียกเช็ดคราบนมที่ท่อไอน้ำออกระวังอย่าให้มีคราบนมติดเพราะจะก่อให้เกิดกลิ่นบูดของโฟมนมในการเป่านมครั้งต่อไปได้

เล็กๆน้อยๆ กับการเป่าโฟมนม

โฟมนมเกิดจากการอัดอากาศเข้าไปในนม เพื่อให้นมเกิดเป็นโฟม ฟูขึ้นมา รสชาติหอมมัน เมื่อนำไปผสมกับกาแฟ


การใช้ไอน้ำเป่านมมันทำให้ร้อนจนเกินไป จะทำให้มันนมแตกตัว โฟมนมที่ได้จะหยาบ เมื่อนำไปผสมเป็นสูตรต่างๆแล้วจะขาดความหอมมันของนม

ในกรณีที่ต้องการใช้โฟมนมสำหรับเครื่องดื่มเย็น สามารถใช้ Plunger เป็นตัวอัดอากาศให้นมเกิดเป็นโฟมได้ โดยเทนมลงไปประมาณ 1/3 ของ Plunger ใช้แกนกลางของ Plunger เป็นตัวอัดอากาศ ปั้มแกนกลางนั้นให้ขึ้น- ลงอย่างรวดเร็ว หลายๆ ครั้ง จนนมฟูขึ้นเป็นโฟม หากไม่มี Plunger สำหรับปั้มนมโดยเฉพาะ ก็อาจใช้ Plunger แบบที่ใช้ชงกาแฟได้ แต่โฟมนมที่ได้จะหยาบกว่าเล็กน้อย
นมที่เหมาะในการใช้ทำโฟมนมคือนมสดพาสเจอร์ไรส์ เพราะสามารถขึ้นฟูเป็นโฟมได้ง่าย และมีความหอมมันมากกว่าเมื่อนำมาผสมเป็นเครื่องดื่ม ส่วนนมสด UHT นั้น หากนำมาใช้จะเกิดโฟมนมได้ยากกว่า และโฟมนมที่ได้จะหยาบ ไม่ละเอียดแน่น รวมทั้งมีความหอม มัน น้อยกว่าโฟมนมที่เกิดจากนมสดพาสเจอร์ไรส์ เนื่องจากนมสด UHT นั้นถูกผ่านกระบวนการทำให้ไขมันแตกตัวและผ่านความร้อนมามากกว่านมสดพาสเจอร์ไรส์

นมที่ใช้ในการเป่าโฟมนั้น ควรแช่ไว้จนเย็นจัดที่อุณหภูมิ 3-5 องศาเซลเซียส เพราะจะทำให้เป่าได้ง่ายกว่าและโฟมนมที่ได้จะมีคุณลักษณะที่ดีกว่า

เหยือกที่ใช้ในการเป่าโฟมนม ควรมีลักษณะฐานกว้าง ปากแคบ และควรแช่เย็นไว้ก่อนนำมาใช้ เพราะจะช่วยให้การเป่าโฟมนมนั้นง่ายขึ้น

20.2.09

พิถีพิถันกับความอร่อย

พิถีพิถันกับความอร่อย

การชงกาแฟให้ละเอียดอ่อนและต้องพิถีพิถันในทุกขั้นตอน แม้เมล็ดกาแฟจะผ่านกระบวนการคั่ว บด และชงที่ดีเลิศก็ยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีเรื่องของการเก็บรักษารวมทั้งรายละเอียดการดูแลอุปกรณ์ต่างๆ และปัญหาอันอาจจะเกิดขึ้นนั้นตอนการชงที่เราไม่ควรละเลย

ศัตรูตัวฉกาจ
กาแฟชนิดเดียวกันแม้จะผ่านขั้นตอนที่เหมือนกัน แต่รสชาติและกลิ่นอาจเปลี่ยนแปลงได้ เพราะกาแฟนั้นมีความไวต่อสภาวะแวดล้อม ความชื้น ตลอดจนอุณหภูมิอย่างมาก

ศัตรูตัวสำคัญของกาแฟ คือ
ความชื้น
อุณหภูมิห้อง
แสงแดด
ออกซิเจนในอากาศ

น้ำมันหอมของกาแฟนั้นสามรถละลายได้ดีในน้ำ ดังนั้นจึงมีความไวต่อไอน้ำในอากาศ ในขณะที่ความน้อยและออกซิเจนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เร็วยิ่งขึ้น กาแฟที่ถูกความชื้นในอากาศทำลายจะมีกลิ่นหอมน้อยลง เมื่อนำมาชงจะมีรสชาติเหมือนกาแฟเก่า เก็บไว้นานและจางกว่าปกติ ดังนั้นไม่ว่าเราจะใช้เมล็ดกาแฟดิบดีจากแหล่งไหน ผ่านการคั่วด้วยเทคนิคที่ดีเพียงใด คุณค่า รสชาติ และกลิ่นกาแฟ พร้อมจะถูกทำลายลงได้หากถูกจัดเก็บอย่างผิดวิธี


รักษาคุณค่ากาแฟ
กาแฟที่คั่วแล้วไม่ว่าจะอยู่ในรูปเมล็ดหรือผงควรจะถูกจัดเก็บอย่างถูกวิธีเพื่อรักษาคุณภาพที่ดีของกาแฟ
เอาไว้

หลักในการเก็บกาแฟอย่างถูกวิธี
1. ควรเก็บกาแฟในภาชนะที่ปิดสนิทหรือภาชนะสูญญากาศ
2. ควรใช้ภาชนะที่ทำจากแก้วหรือเซรามิคเคลือบเงา ไม่ควรเป็นภาชนะโลหะหรือพลาสติก เพราะกาแฟจะดูดกลิ่นพลาสติกหรือโลหะเอาไว้
3. ควรเก็บให้พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
4. คำนวณปริมาณการใช้กาแฟให้พอเหมาะและตรวจสอบความใหม่ของกาแฟจากแหล่งที่ซื้อ
5. ควรซื้อเมล็ดกาแฟคั่วมาบดเองตามจำนวนที่ต้องการชง อย่าบดกาแฟจำนวนมากและทิ้งไว้นานๆ เพราะเมล็ดกาแฟจะสามารถเก็บคุณค่ารสชาติของกาแฟไว้ครบถ้วนและนานกว่า
6. หากจำเป็นที่ต้องเก็บกาแฟไว้นานกว่า 2 สัปดาห์หรือ 1 เดือน ควรนำกาแฟนั้นเก็บในช่องแข็งของตู้เย็น จัดแบ่งเป็นส่วนๆ ตามความต้องการใช้ในแต่ละครั้ง โดยจัดเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิดป้องกันความชื้น

เคล็ดลับความอร่อย
1. ใช้เครื่องมือที่สะอาดอยู่เสมอ
2. น้ำที่ใช้ชงกาแฟควรเป็นน้ำสะอาด มีแร่ธาตุเจือปนอยู่ในระดับพอเหมาะ ไม่ควรใช้น้ำกระด้างเพราะมีแร่ธาตุเจือปนมากเกินไป และไม่ควรใช้น้ำกลั่นเพราะบริสุทธิ์เกินไป
3. อุณหภูมิของน้ำที่เหมาะกับการชงกาแฟ ควรอยู่ระหว่าง 92-96 องศาเซลเซียส หรือประมาณ 94 องศาเซลเซียส
4. ใช้กาแฟที่บดอย่างถูกต้องสำหรับชนิดของเครื่องชงที่ใช้และกาแฟที่ใหม่สดอยู่เสมอในปริมาณที่เหมาะสม
5. ควรอุ่นถ้วยกาแฟทุกครั้งเพื่อรักษาอุณหภูมิของกาแฟ ถ้วยกาแฟที่อุ่นจะช่วยให้ครีมกาแฟของเอสเปรสโซ่หนาและคงอยู่ได้นานอีกด้วย
6. หากใช้เครื่องชงกาแฟชนิดที่อุ่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรอุ่นกาแฟนั้นนานเกิน 30 นาที เนื่องจากกาแฟจะเริ่มเปลี่ยนไปแปลงหลังจากอุ่นไปได้ประมาณ 15 นาที กาแฟที่ถูกอุ่นจะมีกลิ่นและรสชาติที่เปลี่ยนหรือเสียไป นั่นคือ กลิ่นไม่หอม รสชาติเปรี้ยวและขม สีขุ่นโคลนไม่ใส
7. ไม่ควรนำกาแฟที่ชงกาแฟที่ชงเสร็จแล้วไปอุ่นหรือทำให้น้อยอีกครั้งเพราะจะทำให้กลิ่นและรสชาติเปลี่ยนไป หากดื่มกาแฟไม่หมดในทันที ควรเก็บน้ำกาแฟในภาชนะที่เก็บความร้อนได้ เช่นกระติก หรือแก้ว Thermos (แก้วรักษาอุณหภูมิ)

อุปสรรคความอร่อย
กาแฟที่ชงออกมาไหลเร็วเกินไป น้ำกาแฟมรสชาติอ่อนหรือจางเกินไป อาจมีสาเหตุดังนี้
1. ผงกาแฟน้อยเกินไป
2. กดกาแฟไม่แน่น (สำหรับเครื่องชงแบบเอสเปรสโซ่)
3. กาแฟบดหยาบเกินไป
4. กาแฟบดไว้นานเกินไป
5. กาแฟเก่าหรือคั่วมานาน
6. น้ำร้อนไม่พอหรือไม่ได้อุณหภูมิที่เหมาะสม

กาแฟที่ชงออกมาไหลช้าเกนไป น้ำกาแฟมีรสาติเข้มเกินไป อาจมีสาเหตุดังนี้
1. กดกาแฟแน่นเกินไป (เครื่องชงแบบเอสเปรสโซ่)
2. . กาแฟบดละเอียดเกินไป
3. ผงกาแฟมากเกินไป

กาแฟที่ชงออกมามีกลิ่นไม่พึงปรารถนา มีรสขม อาจมีสาเหตุดังนี
1. กาแฟเก่าหรือคั่วมานาน หรือถูกจัดเก็บอย่างไม่ถูกวิธี
2. ใช้เวลานานเกินไปในการชง
3. เครื่องมืออุปกรณ์ไม่สะอาด
4. น้ำที่ใช้ชงกาแฟไม่สะอาด
5. ฟันบดของเครื่องบดทื่อหรือต้องการปรับให้เหมาะสม

กาแฟที่ชงได้สีอ่อน ดูเป็นน้ำ ไม่มีครีมกาแฟ (เฉพาะการชงแบบเอสเปรสโซ่) อาจมีสาเหตุดังนี้
1. น้ำร้อนไม่พอหรือไม่ได้อุณหภูมิที่เหมาะสม
2. ไม่ได้อุ่นด้ามอัดกาแฟหรือถ้วยกาแฟก่อน (สำหรับเครื่องชงแบบเอสเปรสโซ่)
3. กาแฟบดไว้นานเกินไป
4. กาแฟบดหยาบเกินไป
5. กาแฟเก่าหรือคั่วมานาน หรือถูกจัดเก็บอย่างไม่ถูกวิธี
6. ฟันบดของเครื่องบดทื่อหรือต้องการการปรับให้เหมาะสม

กาแฟกระเด็นออกจากด้ามอัดกาแฟในขณะที่ชงอยู่(สำหรับเครื่องชงแบบเอสเปรสโซ่) อาจมีสาเหตุดังนี้
1. ใส่ด้ามอัดกาแฟไม่ลงล็อค

2. มีผงกาแฟอยู่ตามขอบถ้วยของกาแฟ
3. ใส่ผงกาแฟมากเกินไป
4. กาแฟบดละเอียดเกินไป และกดแท่นนานเกินไป
5. ยางวงแหวน (Gasket) ของหัวชงกาแฟเสื่อมหรือไม่สะอาด



14.2.09

เมล็ดพันธุ์ตำนาน

เมล็ดพันธุ์ตำนาน

กาแฟเป็นพืชพันธุ์ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานับศตวรรษเป็นพืชป่าที่ขึ้นตามธรรมชาติที่มีผู้ค้นพบโดยบังเอิญต้นกำเนิดของกาแฟไม่เป็นที่กระจ่างชัด มีเรื่องเล่าและตำนานเกี่ยวกับกำเนิดของกาแฟมากมายหลายแบบแต่เรื่องเล่าที่เป็นที่รู้จักและถือเป็นตำนานกาแฟที่เป็นที่ยอมรับกันมากที่สุดคือเรื่องราวของคนเลี้ยงแพะกับอิทธิฤทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ที่ทำให้แพะคึกคัก

ว่ากันว่าในราวคริสต์ศตวรรษที่ 14คนเลี้ยงแพะชาวอาบิสซิโนโบราณ หรือดินแดนในประเทศเอธิโอเปีย ในอาฟริกาปัจจุบัน ชื่อ คาลดี้ (KALDI)ได้ค้นพบเมล็ดพันธ์กาแฟโดยบังเอิญ คาลดี้นำแพะออกไปเลี้ยงตามเนินเขา ฝูงแพะได้เข้าไปแทะเล้มลูกไม้สีแดงของต้นไม้ชนิดหนึ่ง เกิดอาการคึกคะนองผิดปกติ

เมื่อเขาสังเกตเห็นจึงได้ทดลองชิมลูกไม้นั้นและเกิดและเกิดความกระปรี้กระเปร่ามีกำลังวังชาและเกิดอาการนอนไม่หลับ เขาจึงนำเรื่องนี้ไปเล่าให้นักบวชรูปหนึ่งฟัง นักบวชจึงได้ทดลองนำลูกไม้นั้นไปตากแห้งแล้วนำมาชงน้ำดื่ม ผลที่ได้รับก็ไม่แตกต่างจากคาลดี้คนเลี้ยงแพะเลย

ในสมัยโบราณเมล็ดกาแฟถูกนำไปทดลองผสมกับอาหารโดยการผสมลงไปในแป้งทำให้อาหารมีกลิ่นหอมขึ้น จึงทำให้เมล็ดกาแฟกลายเป็นที่รู้จักและนิยมมากขึ้นข่าวคราวเมล็ดพันธุ์มหัศจรรย์นี้แพร่สะพัดล่วงรู้ไปถึงหูชาวมุสลิม

ในละแวกใกล้เคียงจากปากต่อปากจากมัสยิดหนึ่งไปยังมัสยิสดหนึ่ง จากชุมชนไปถึงชุมชนจนเป็นที่รู้จักกว้างขวางทั่วไป จึงได้ถือว่าชาวมุสลิมในคราบสมุทรอาราเบียเป็นชนกลุ่มแรกๆที่ได้รู้จักกาแฟและยังทำให้กาแฟเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปยังชนชาติอื่นๆที่สุดกาแฟก็แพร่หลายไปทั่วโลก สู่หมู่เกาะในอินโดนีเซียถึงเอเชียอาคเนย์ อย่างประเทศลาว ประเทศเวียดนาม จนมาถึงประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีการปลูกกาแฟกันทั้งภาคเหนือและภาคใต้

หลากหลายพันธุ์กาแฟ

ในโลกนี้กาแฟมีหลายพันธุ์หลายชนิดแต่ที่นิยมปลูกและมีขายกันโดยทั่วไปมีอยู่ 2 พันธุ์คือ อาราบีก้า และ โรบัสต้า ซึ่งกาแฟทั้งสองชนิดมีคุณสมบัติต่างกัน อาราบีกก้า เป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกและบริโภคกันมากที่สุดในโลก มีปริมาณการผสมถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ในตลาดกาแฟโลกแต่มีจำนวน 1 ใน 8 เท่านั้นที่เป็นกาแฟที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและเป็นที่นิยม กาแฟชนิดนี้ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณสารกาแฟชั้นดี มีกลิ่นและรสชาติดีที่สุดเมล็ดกาแฟอาราบีก้านี้จะมีรูปทรงค่อนข้างเรียวผอม รอยผ่าไส้กลางมีลักษณะคล้ายตัว S


เมื่อผ่านกระบวนการผลิตแล้วกาแฟพันธ์นี้จะมีกล่นหอมหวานอบอวล ซับซ้อน คล้ายกลิ่นช็อกโกแลตและดอกไม้รสชาตนุ่มละมุน มีปริมาณคาเฟอีนประมาณ 1.1-1.7 เปอร์เซ็นหรือประมาณครึ่งหนึ่งของพันธุ์โรบัสต้าในสัดส่วนเท่ากันกาแฟอราบิก้าชอบความเย็นเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีในพื้นที่ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 800-2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล สำหรับในประเทศไทยภูเขาสูงในจังหวัดทางภาคเหนือเช่น เชียงใหม่,เชียงราย,ตาก,ลำปาง จึงเป็เนแหล่งที่ดี

ในการปลูกกาแฟพันธุ์อราบิก้า โรบัสต้า เป็นกาแฟพันธุ์ที่ต้องการความชุ่มชื้นสูง ปลูกง่ายให้ปริมาณผลผลิตมาก นิยมปลูกกันมากในทวีปอฟริกาและเอเชียสามาปลูกในพื้นมที่ที่มระดับความสูงตั้งแต่ 500-600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล สำหรับประเทศไทยนิยมปลูกกันทางภาคใต้ เช่นที่จังหวัดชุมพร,สุราษฎร์ธานี,นครศรีธรรมราช

เมล็ดพันธุ์ของโรบัสต้าจะอวบอ้วนด้านหลังมีลักษณะนูนเป็นหลังเต่า รอยผ่าไส้กลางเมล็ดมีลักษณะค่อนข้างตรง กาแฟสายพันธ์นี้กลิ่นไม่หอมหวานอบอวล ไม่ซับซ้อน รสชาติฟาดกว่าพันธุ์อราบิก้า และมีปริมาณคาเฟอีนสูงกว่า 1-2 เท่าตัวหรือปริมาณ 2-45 เปอร์เซ็นต์ถึงแม้ว่าจะให้รสชาตด้อยกว่า มีรสฝาดมากกว่า แต่บอดี้ของกาแฟพันธุ์นี้จะมีมากกว่า สามารถรับรู้ได้เวลาดื่ม ส่วนใหญ่จะนำมาผลิตเป็นกาแฟสำเร็จรูป หรือนำมาผสมกับกาแฟพันธุ์อราบิก้า เพื่อได้ให้รสชาติที่แตกต่างออกไป นอกจากนี้ ยังมีพันธ์กาแฟที่อาจพบได้อีก 2 สายพันธุ์ คือ ลิเบอริก้า (Liberica) และเอ็กซ์เซลซ่า (Excelsa) แต่ทั้งสองสายพันธุ์นี้ไม่เป็นที่นิยมในการค้า เนื่องจากรสชาติไม่ค่อยดีนัก

กาแฟอันหอมกรุ่นในแต่ละถ้วยที่ได้ลิ้มรสกันนั้น หัวใจของรสชาติอยู่ที่ เมล็ดกาแฟ เมล็ดกาแฟเป็นผลผลิตอันทรงคุณค่าที่ในแต่ละปีต้นกาแฟจะสามารถให้ผลผลิตเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

ระยะเวลาตั้งแต่ออกดอกบานสะพรั้งจนกระทั้งเป็นผลกาแฟสุกสีแดงอร่ามไปทั้งต้น กินเวลานานถึง 10 เดือนโดยประมาณ ผลกาแฟสุกสีแดงอร่ามนั้น มักเรียกกันว่า ผลเชอร์รี่กาแฟ ชาวไร่จะเลือกเก็บผลเชอร์รี่เฉพาะผลที่มีสีแดงจัดเท่านั้น แล้วนำมาแปรรูปเป็นเมล็ดกาแฟดิบหรือที่นิยมเรียกกันว่า สารกาแฟ

กระบวนการในการแปรรูปจากผลเชอร์รี่มาเป็นสารกาแฟนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ วิธีการแบบเปียก Wet Method และวิธีการแบบแห้ง Dry Methodc

วิธีการแบบเปียก หรือ Wet Method

วิธีการแปรรูปแบบเปียกนั้นใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ มีขั้นตอนมากต้นทุนสูง แต่จะได้สารกาแฟที่มีคุณภาพและรสชาติดี นิยมใช้กับกาแฟพันธุ์อราบิก้า


กรรมวิธีนี้จะเริ่มต้นจากการนำผลเชอร์รี่ที่เก็บได้มาปลอกเปลือกออก ซึ่งจะต้องทำวันเดียวกันกับที่เก็บผลเชอร์รี่ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผลเชอรร์รี่เน่าเสียก่อน จากนั้นตองทำการกำจัดเมือกที่ติดอยู่ออกไปนำไปแช่น้ำและหมักไว้ประมาณ24-36 ชั่วโมง ก่อนที่จะนำมาล้างด้วยน้ำสะอาด และนำไปตากแดดให้แห้งบนลานซีเมนต์ หรือตากในตะแกรงที่ทำด้วยตาข่ายและยกให้สูงขึ้นจากพื้นดินเพื่อให้ความชื้นระบายออกมากยิ่งขึ้นกว่าเมล็ดกาแฟจะแห้งดีต้องใช้เวลาประมาณ 7 วันกาแฟที่ได้ในขั้นตอนนี้เรียกว่า กาแฟกะลา เนื่องจากยังมีเปลือกแข็งห่อหุ้มเมล็ดกาแฟอยู่ จากนั้นจะต้องนำไปสีเอากะลาออกจึงจะได้เป็นสารกาแฟ หรือเมล็ดกาแฟดิบที่เราเห็นกันทั่วไป

วิธีการแบบแห้ง หรือ Dry Method

วิธีการแปรรูปแบบแห้งนั้นง่าย ต้นทุนต่ำ มีความยุ่งยากน้อยกว่าแบบเปียก แต่จะใช้เวลามากกว่า และสารกาแฟที่ได้เปรียบเทียบกับกรมวิธีแบบเปียกแล้วคุณภาพจะด้อยกว่า


ขั้นตอนการทำคือ นำผลเชอร์รี่ที่เก็บได้มาตากบนลานในระหว่างวันต้องหมั่นไถกลับด้านเพื่อให้เมล็ดกาแฟแห้งอย่างทั่วถึงซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 15 วันหรือจนกว่าจะแห้งดี เมื่อเมล็ดกาแฟแห้งดีแล้วจะต้องนำไปสีเอาเปลือกแห้งออก จึงจะได้สารกาแฟแบบที่เห็นกัน สารกาแฟที่ผลิตโดยกรรมวิธีนี้จะมีคุณภาพต่ำกว่าสารกาแฟที่ผลิตโดยกรรมวิธีแบบเปียก เพราะในช่วงระหว่างการตากที่ผลเชอร์รี่กาแฟยังไม่แห้งดีนั้นจะเกิดการหมักตัวของเมือกที่อยู่ภายในผลเชอร์รี่ อันมีผลทำให้กลิ่นและรสของสารกาแฟที่ได้ด้อยลง

เนื่องจากกาแฟมีคุณสมบัติไวต่อการดูดกลิ่นการตากกาแฟไม่ว่าจะเป็นกรมวิธีแบบเปียกหรือแบบแห้ง จึงไม่ควรตากบนลานดิน เพราะกลิ่นของสารกาแฟที่ผลิตได้ จะมีกลิ่นดินปนอยู่ด้วย ซึ่งมีผลทำให้คุณภาพของสารกาแฟที่ได้ลดลงไป