18.3.09

แนวทางการเลือกซื้อเครื่องทำกาแฟให้เหมาะสมกับงบประมาณ

แนวทางการเลือกซื้อเครื่องทำกาแฟให้เหมาะสมกับงบประมาณ

ค่อยๆ ตั้งใจอ่านนะครับ แฮ่ม... เครื่องทำกาแฟเป็นสิ่งที่เพื่อนๆ หลายๆ ท่านมักจะลังเล ตัดสินใจลำบาก ไม่รู้จะซื้อเครื่องแบบไหน รุ่นไหน.... จากที่การสอบถามผ่านทางเว็บบอร์ด อีเมล์ รวมทั้งโทรศัพท์มาสอบถามผมบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นการถามว่าเครื่องยี่ห้อนั้น ยี่ห้อโน้น รุ่นโน้น รุ่นนี้ดีไหม เอามาชงขายได้ไหมเป็นต้น ผมจึงหาเวลาว่างมาเขียนข้อคิดในการเลือกซื้อเครื่องทำกาแฟที่เหมาะสม มาเป็นแนวทางในการที่จะตัดสินใจซื้อเครื่องทำกาแฟสักชุดหนึ่ง... ว่าควรจะดูอะไรบ้าง ถึงจะเหมาะสมกับการที่จะเอามาทำธุรกิจร้านกาแฟ


ในการเลือกซื้อเครื่องทำกาแฟที่เป็นเครื่องทำกาแฟขนาดเล็ก หรือเครื่องโฮมยูสนั้น ถ้าจะเอามาทำกาแฟในระยะยาวคงจะยาก ส่วนใหญ่แล้วเครื่องระดับโฮมยูสนั้น ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานหนัก ดังนั้นการใช้งานติดต่อกันอาจจะทำให้คุณภาพของกาแฟในแก้วหลังๆ ลดลงได้ รวมทั้งโอกาสที่เครื่องทำกาแฟจะเกเรย่อมจะมีมากกว่าครับ ส่วนใหญ่แล้วถ้ามีเพื่อนๆ โทรมาสอบถามขอคำแนะนำ ผมจะมักจะแนะนำเครื่องทำกาแฟ Nouva รุ่น Oscar กับเครื่องเครื่องบดกาแฟ Macap รุ่น M5 หรือไม่ก็ Compak รุ่น K3 หรือเป็นเครื่องบดกาแฟแบบคอมเมอร์เชียลยี่ห้ออื่นๆ ครับ ชุดนี้เหมาะสำหรับเพื่อนๆ ที่จะเปิดร้านกาแฟเล็กๆ หรือคีย์ออสที่ขายกาแฟเป็นหลัก เหตุผลที่ผมมักจะแนะนำชุดนี้เป็นชุดเริ่มต้นก็เพราะว่า ผมได้ทำการทดสอบ ทดลองในภาคปฏิบัติ จนมั่นใจว่าใช้ได้ดี มีความเสถียรภาพในระดับหนี่ง รวมทั้งความทนทานก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ปัญหาจุกจิกมีน้อยครับ ซึ่งการที่ได้นำเอา Oscar + M5 ทดสอบทดลองในครั้งแรกเมื่อปี 2005 และทางบลูค๊อฟได้นำมาจับคู่ขายเป็นรายแรกของเมื่อไทย ที่นำเอาเครื่อง Oscar+M5 มาขายคู่กัน (**บันทึกเอาไว้ให้ทราบกันครับ) และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนทำให้หลายรายต้องเอา Oscar + M5 มาขายคู่กันบ้าง จวบจนถึงปัจจุบัน ก็ยังเป็นที่พูดถึงอยู่เสมอสำหรับเครื่องชงเครื่องบดชุดนี้ ที่กลายมาเป็นคู่หูต่างค่ายกันครับ นั่นเป็นเพราะส่วนหนึ่งของการที่ผมได้เอาเครื่องมาทดสอบ เพื่อความมั่นใจว่าเมื่อเราแนะนำไปแล้วผู้ซื้อเกิดความสบายใจ และไม่มีปัญหาจุกจิกตามมา นั่นคือจุดหนึ่งที่เราสร้างรอยเท้าเอาไว้ จนกลายมาเป็นรอยเท้าที่หลายๆ ท่านเดินตามมาครับ

ทำไมต้อง Oscar + M5 การที่ผมมองไปที่ Oscar ในตอนนั้น เพราะว่าเครื่องทำกาแฟ Oscar เปิดตัวที่ราคา 21,000-23,000 บาทในปี 2005 และขยับราคามาเป็น 25,000-26,000 บาท (ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 31,000-32,000 บาท) การที่เป็นเครื่องทำกาแฟที่ราคาไม่แพงนักในตอนนั้น และยังเป็นเครื่องทำกาแฟระบบแลกเปลี่ยนความร้อนหรือที่เรียกกันว่า Heat Exchange (HX) ซึ่งเป็นระบบเดียวกันกับเครื่องทำกาแฟในระดับคอมเมอร์เชียล ทำให้ได้ความต่อเนื่องของการทำกาแฟออกมาดีกว่าเครื่องทำกาแฟขนาดเล็กที่เป็นระบบ Themoblock ที่นิยมกันในเครื่องทำกาแฟขนาดเล็ก ที่มีบอยเลอร์ประมาณ 250-300 cc. ซึ่งอาจจะให้ความต่อเนื่องในการทำกาแฟได้ไม่ดีนัก เมื่อนำมาทำกาแฟต่อเนื่องกันเกิน 5 แก้วขึ้นไป แก้วท้ายๆ น้ำอาจจะร้อนไม่ทัน ทำให้คุณภาพของกาแฟที่กลั่นออกมาลในแก้วหลังๆดลง และด้วยความที่เครื่อง Oscar เป็นเครื่องระบบ HX ทำให้เราสามารถสตรีมนมได้เลย โดยไม่ต้องกดสวิทช์ใดๆ หรือจะกลั่นกาแฟพร้อมๆ กับการสตรีมนมในเวลาเดียวกันได้เฉกเช่นเครื่องทำกาแฟในระดับคอมเมอร์เชียลทั้งหลาย เพียงแต่เครื่องทำกาแฟรุ่น Oscar จะไม่มีท่อน้ำร้อนมาให้เท่านั้น ส่วนเครื่องบดกาแฟรุ่น M5 นั้น ที่ผมเลือกมาจับคู่เพราะว่าในปี 2005 นั้นเครื่องบดกาแฟที่เป็นคอมเมอร์เชียลส่วนใหญ่ราคาค่อนข้างสูง จะมีก็แต่ M5 ที่ราคาไม่แพงและมีคุณภาพที่ดีกว่าตัวแพงหลายๆ รุ่น เครื่องบดกาแฟ M5 จะเป็นเครื่องบดกาแฟที่แข็งแรง ปรับความหยาบ-ละเอียดได้ง่าย เข้าใจง่าย และการถอดออกมาทำความสะอาด และบำรุงรักษาง่าย และมีความทนทานมาก ซึ่งวิธีทำความสะอาดมีอยู่ในกระทู้http://www.roytawan.com/topic/view.php?id=56ครับ

ส่วนในปัจจุบันนี้เครื่องบดกาแฟแบบคอมเมอร์เชียลได้มีเข้ามาให้เลือกมากมายหลายรุ่น และราคาไม่ได้แพงเหมือนก่อน รุ่นที่ผมมักจะแนะนำให้กับผู้ที่เริ่มต้นอีกตัวหนึ่งก็จะเป็น Compak รุ่น K3 ซึ่งตัวนี้ได้ผ่านการทดสอบทดลองค่อนข้างหนักจากผมแล้วเช่นกัน ซึ่งถือว่ามีความแข็งแรงทนทาน รองรับความต่อเนื่องในการบดได้ดี การถอดเฟืองบดมาทำความสะอาดไม่ยาก แต่ในการปรับหยาบ-ละเอียด อาจจะยากกว่า M5 เล็กน้อย แต่ถ้าเข้าใจมัน ก็จะรู้สึกว่าไม่ยากอย่างที่คิด สำหรับเครื่องบดกาแฟอื่นๆ ที่เป็นแบบคอมเมอร์
เชียลนั้น ผมได้ทดสอบ ทดลองหลายยี่ห้อครับ แต่สำหรับผู้เริ่มต้นแล้ว M5 และ K3 เป็นรุ่นที่ผมแนะนำ เพราะว่าคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปสำหรับมือใหม่อยากเปิดร้านมากที่สุดแล้วครับ

แล้วถ้างบประมาณมาจำกัดกว่านั้นจะใช้เครื่องทำกาแฟรุ่นไหนดี.... เป็นคำถามที่ผมต้องตอบอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นทางโทรศัพท์ หรืออีเมล์ หรือแม้แต่ที่เห็นโพสในเว็บบอร์ด ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผมมักจะแนะนำ Rancilio รุ่น Silvia หรือไม่ก็ GAGGIA รุ่น TEBE, หรือรุ่น Coffee DELUXE เพราะว่าเป็นรุ่นที่มีโซลินอยวาล์ว 3 ทาง ช่วยคายแรงดัน ในกรณีที่แรงดันเกินพิกัด จากการใช้งานหนัก ก็จะทำให้เครื่องไม่เสื่อมสภาพเร็วเกินไปนัก ผิดกับบางรุ่นที่ใช้สปริงวาล์ว และเครื่องที่กล่าวถึงไม่ว่าจะเป็น Rancilio หรือ GAGGIA เป็นเครื่องที่ผ่านการทดสอบทดลองแบบหนักๆ จากผมมาแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องที่ใช้ได้เลยที่เดียว ถ้าจะนำมาประกอบธุรกิจสำหรับเพื่อนๆ ที่มีงบจำกัด แต่ต้องการคุณภาพของกาแฟ ซึ่งในการชงต่อเนื่องนั้น อาจจะต้องมีการชงไปพักไป โดยสังเกตุสัญญานไฟแสดงความพร้อมของเครื่องด้วยนะครับ และที่สำคัญเลย เครื่องพวกนี้ที่มันเป็นระบบ Themoblock บอยเลอร์ไม่เกิน 350 cc. ไม่จำเป็นต้องฟลัชน้ำทิ้งก่อนชงนะครับ เพราะว่าจะทำให้อุณหภูมิตก เนื่องจากมันจะมีการเติมน้ำเย็นเข้ามาใหม่ตลอด ซึ่งต่างจากากเครื่องระบบ HX หรือระบบแลกเปลี่ยนความร้อน พวกนั้นจะมีอุณหภูมิที่สูงและบอยเลอร์ใหญ่ ทำให้มีความร้อนสะสม มากน้อยขึ้นอยู่กับการออกแบบของเครื่องในแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อครับ ดังนั้นถ้าเราจะใช้เครื่องเล็กๆ เราต้องจำเอาไว้ว่า ไม่ต้องฟลัชน้ำก่อนชง เพราะจะทำให้อุณหภูมิตก แต่ให้ฟลัชน้ำหลังจากชงเสร็จแล้วแทน เพื่อทำความสะอาดหัวกรุ๊ฟครับ และไม่ต้องห่วงว่าความร้อนมันจะเกินเพราะว่า Themoblock มันจะตัดการทำงานของฮีทเตอร์ตามที่ตั้งไว้จากโรงงานแล้วครับ ให้ห่วงเรื่องความร้อนตกแทนดีกว่า เพราะถ้าความร้อนตกแล้ว การกลั่นกาแฟอาจจะทำออกมาได้ไม่ดี กากกาแฟอาจจะแฉะเนื่องจากอุณหภูมิไม่ถึงเป็นต้น.....

ส่วนเครื่องยี่ห้ออื่นๆ รุ่นอื่นๆ นั้น ผมได้ทดลองทดสอบแบบหนักๆ มาแล้ว แต่จะไม่ขอกล่าวถึงว่ามียี่ห้อไหนมั่ง รุ่นไหนมั่ง บ้างรุ่นก็อยู่ในเกณท์ใช้ได้ แต่ผมไม่สามารถแนะนำเพื่อนๆ ได้ เพราะถ้าไม่ดีจริงๆ แล้วผมไม่อยากแนะนำครับ แต่ใช้ว่าผมไม่แนะนำแล้วจะซื้อไม่ได้นะครับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจและงบประมาณในกระเป๋าของเพื่อนด้วย ซึ่งเครื่องทำกาแฟหลักที่เหมาะสมแนะนำว่าดูตามนี้ครับ

สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนเป็นอันดับแรกเลยคือก้านอัด หรือที่เรียกว่า Portafilter ว่าเป็นแบบใด ถ้าจะเอาเครื่องทำกาแฟมาชงกาแฟขาย และต้องการให้ได้รสชาติของกาแฟเย็นที่เข้มข้นนั้น ก้านอัดนี่แหละครับคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังนั้นเราต้องดูเครื่องทำกาแฟที่ก้านอัดเป็นขนาด 56-58 มม. และทำจากทองเหลืองชุบโครเมี่ยมเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นก้านอัดที่ได้มาตรฐานคอมเมอร์เชียลครับ ซึ่งจะทำให้สามารถใส่ผงกาแฟได้ 14-18 กรัม (ขึ้นอยู่กับแต่ละยี่ห้อ) ที่การกลั่นกาแฟ 2 ช๊อท เพื่อทำกาแฟเย็น ดังนั้นก้านอัดจึงเป็นสิงที่เพื่อนๆ ควรดูอันดับแรกหากจะซื้อเครื่องทำกาแฟขนาดเล็ก มาเปิดเป็นร้านเล็กๆ หรือคีย์ออส และมีงบที่จำกัด

สิ่งที่ต้องพิจารณาอันดับที่สอง คือเรื่องของรูปลักษณ์ ความแข็งแรงทนทาน รวมทั้งอะไหล่ในการซ่อมบำรุง อาทิเช่นซีลยาง ฯ เป็นต้น ซึ่งควรสอบถามกับผู้ขายว่ามีขายให้หรือเปล่า เพราะซีลยางจำเป็นต้องเปลียนทุกๆ 3 เดือน 6 เดือน หรือตามความเหมาะสมในการใช้งาน

สิ่งที่ดูอันดับสุดท้ายเลยคือแรงดันของเครื่อง ซึ่งปัจจุบันแน่นอนว่าอยู่ในช่วง 15-18 บาร์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าเพื่อนๆ พิจราณาการเลือกซื้อตามสิ่งแรกที่แนะนำแล้วคือเรื่องก้านอัด ถ้าก้านอัดได้มาตรฐานคอมเมอร์เชียล เรื่องแรงดันว่าจะกี่บาร์ก็ไม่จำเป็นต้องสนใจก็ได้ครับ เพราะแรงดันที่เหมาะสมในการกลั่นกาแฟอยู่แค่ไม่ถึง 10 บาร์เองครับ

ความสอดคล้องของยอดขาย

ความสอดคล้องของยอดขายจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการเลือกซื้อเครื่องของเราด้วยครับ ถ้าเพื่อนประเมินยอดขายว่าวันๆ น่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 50 แก้วบวกลบนิดหน่อย แต่ด้วยความที่งบน้อย จะให้ซื้อเครื่องคอมเมอร์เชียลคงจะไม่ไหว ผมก็แนะนำว่าคงต้องใช้เครื่องระบบ HX อย่าง Oscar นั่นแหละครับ เพราะในระยะ 1 ปีแรก ถ้าคืนทุนหรือพอมีทุนแล้วค่อยเขยิบขึ้นไปใช้เครื่องระดับคอมเมอร์เชียล ซึ่งผมจะมองหาเครื่องคอมเมอร์เชียลที่ราคาไม่แพงนัก และคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปมาทดสอบทดลองเพื่อแนะนำรับใช้เพื่อนๆ ในอนาคตครับ

ส่วนเพื่อนๆ ที่มองว่ายอดขายน่าจะไม่มาก ไม่เกิน 20-30 แก้วต่อวัน และด้วยความที่งบประมาณจำกัดเช่นกัน ก็อาจจะมองดูเครื่องทำกาแฟที่ถูกลงมาหน่อย โดยพิจราณาเลือกเครื่องให้เหมาะสมกับสตางค์ในกระเป๋าตามคำแนะนำที่ผมให้ไว้ครับ และถ้าเราเปิดร้านกาแฟแล้ว... เกิดขายดีมาก เราต้องอย่าละทิ้งโอกาสอันดี อย่างแรกเลยเราต้องเปลี่ยนเครื่องให้ใหญ่ขึ้น หากเป็นไปได้ หรือซื้อเครื่องเพิ่ม ซึ่งผมมองว่าโอกาสแบบนี้เข้ามาไม่นาน ถ้าเรายังดันทุรังต่อไป โดยไม่มีรับมือที่ดี โอกาสที่ดีๆ มันจะผ่านไปครับ เพราะถ้ายอดเรามากขึ้นและเครื่องเรารองรับไม่ไหว ทำให้คุณภาพลดลงเมื่อไร ลูกค้าก็จะหายไปโดยที่กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว ผมเห็นหลายๆ ท่านมีโอกาสดีๆ แบบนี้ แต่สุดท้ายก็ปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไปครับ เพราะถ้าเรารักษาคุณภาพไว้ไม่ได้ เราก็ยากที่จะรักษาลูกค้าเราไว้ได้เช่นกันครับ เพราะว่าธุรกิจกาแฟไม่ได้มีเราเปิดอยู่แค่เจ้าเดียวครับ ยังมีคนที่จะเปิดอีกมากมาย วันดีคืนดีข้างร้านเพื่อนๆ อาจจะมีร้านกาแฟเปิดใหม่ก็ได้....

การพิจารณาเลือกเครื่องบด

เรื่องเครื่องบดเนี่ย... ใครว่าไม่สำคัญ ฮ่า... เครื่องบดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เรียกว่าเราควรให้ความสำคัญมากกว่าเครื่องทำกาแฟครับ ยิ่งถ้าเราจะใช้เครื่องทำกาแฟแบบโฮมยูสมาชงขายด้วยแล้ว ผมไม่แนะนำให้เอาเครื่องบดโฮมยูสเล็กๆ มาคู่กัน เพราะเท่าที่ทดสอบมาแทบไม่มีตัวไหนผ่านการทดสอบแบบโหดๆ ของผมเลยครับ เครื่องบดโฮมยูสตัวละ ไม่เกิน 7-8 พัน กลายเป็นเครื่องบดแบบหน่อมแน๊มทันทีเมื่อเอามาบดกาแฟชงขาย ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านที่ทำกาแฟร้านเล็กๆ หรือคียส์ออสจะทราบดี และมีประสบการณ์กับเครื่องบดหน่อมแน๊มกันทุกคน แต่ผมไม่อาจจะห้ามเพื่อนๆ ได้หรอกครับ กับการที่เพื่อนๆ จะจ่ายเงินเพื่อซื้อเครื่องบดแบบตัวเล็กๆ มาทำกาแฟขาย อย่างน้อยก็จะได้ประสบการณ์เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่ายเองครับ ฮ่า....

โดยรวมแล้วในการทำกาแฟเพื่อขาย เครื่องบดควรที่จะมีความทนทาน บดได้ต่อเนื่อง ไม่ฟุ้งกระจุยกระจาย ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกเครื่องบดที่เป็นคอมเมอร์เชียล แน่นอนว่าราคามันย่อมสูง แต่ในระยาวมันไม่มีปัญหาจุกจิกกวนใจครับ เพราะเครื่องบดทำงานหนักว่าเครื่องทำกาแฟครับ เครื่องทำกาแฟยังได้พักหายใจบ้างในขณะที่เรากำลังบดกาแฟอย่างต่อเนื่อง และสิ่งสำคัญคือความเสถียรภาพ และความสม่ำเสมอของผงกาแฟในการบดทุกครั้ง เมื่อนำไปชงกาแฟโดยใช้เครื่องทำกาแฟขนาดเล็กทำ ก็สามารถให้รสชาติอร่อยได้เช่นกันครับ แม้ในเรื่องของความต่อเนื่องในการชงกาแฟ เครื่องบดกาแฟก็ยังเป็นตัวช่วยที่ดี ที่จะทำให้การชงอย่างต่อเนื่องในเครื่องทำกาแฟขนาดเล็กๆ ไม่ผิดเพี้ยนจากแก้วแรกๆ มากเกินไปนัก

แน่นอนว่าเครื่องบดที่ดีๆ ราคาย่อมไปถึงหลักหมื่นครับ ถ้าเป็นไปได้อาจจะใช้เครื่องบดที่ผมแนะนำอย่าง M5 หรือ K3 หรือเครื่องรุ่นอื่นๆ ยี่ห้ออื่นๆ ที่เป็นเครื่องในระดับคอมเมอร์เชียล ที่ราคาเหมาะสมกับสตางค์ในกระเป๋า เครื่องมือสองดีมั๊ย

เครื่องทำกาแฟมือสอง

แน่นอนว่ามันเป็นเครื่องที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว ซึ่งถ้าเราไม่มีประสบการณ์เลย ก็ต้องวัดดวงกันครับ ซึ่งถ้าเครื่องมือสอง เป็นเครื่องแบบคอมเมอร์เชียล แน่นอนว่ามันมีความน่าสนใจมาก เพราะว่าเครื่องระดับคอมเมอร์เชียล จะมีความทนทานและรองรับการใช้งานหนักอยู่แล้ว ดังนั้นเครื่องในระดับคอมเมอร์เชียลที่ใช้งานมาสักปีแล้ว ก็ยังถือว่าใช้ได้ แต่จะเห็นว่าเครื่องในระดับคอมเมอร์เชียลไม่ค่อยมีมาขายเป็นเครื่องมือสองเท่าไรนัก นานๆ จะโผล่มาให้เห็นสักตัว.... ซึ่งผมก็ฝากไว้เป็นข้อคิดนะครับ ว่าพวกที่ใช้เครื่องคอมเมอร์เชียลนี่ยไม่คิดจะขายเครื่องทิ้งกันมั่งหรอ ไม่เจ้งกันมั่งหรือฟ่ะ ฮ่า..... ถึงไม่ค่อยมีใครเอามาขาย... ก็ฝากให้เพื่อนๆ เป็นลองวิเคราะห์ดูนะครับ ว่าทำไม่ ผมไม่ขอบตอบละ เพราะบอกใบ้ไปเยอะแล้ว....

ส่วนเครื่องมือสองที่เป็นเครื่องในระดับโฮมยูสนั้น เราจะเห็นว่ามีขายกันเยอะมาก ผมแนะนำว่าถ้าเครื่องใช้มาเกินปี ราคาควรจะลดลงไปมากกว่า 40% ของราคาเครื่องใหม่ที่มีขายกันในปัจจุบัน และถ้าเครื่องที่ใช้งานมาไม่เกินปี จะกีเดือนก็แล้วแต่ ราคาควรจะลดมากกว่า 20% ของราคาเครื่องใหม่ ไม่งั้นใช้เครื่องใหม่ดีกว่าครับ เพราะของใหม่แกะกล่องย่อมดีกว่าของมือสองแน่นอน ในการซื้อเครื่องทำกาแฟมือสอง เมื่อได้เครื่องมาแล้ว ควรที่จะส่งศูนย์บริการ หรือผู้ชำนาญ เพื่อการตรวจสอบ ปรับแต่งและล้างบอยเลอร์ เพื่อให้เครื่องมีคุณภาพในการทำกาแฟใกล้เคียงกับของใหม่มากที่สุด

เครื่องทำกาแฟพร้อมเครื่องบดดีมั๊ย

คำถามนี้เป็นอีก 1 คำถามที่ผมมักจะได้รับมาเสมอๆ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมมักจะแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้แยกจะดีกว่า เพราะว่ามันจะสะดวกในการบำรุงรักษา แต่เหตุผลลึกๆ แล้วเท่าที่ได้ทดสอบเครื่องยอดนิยมทั้งหลายที่เค้าใช้กันมา ผมบอกได้ว่าถ้าเอามาชงขายมันคงไม่เหมาะ แต่ถ้าชงทานที่บ้าน ที่ออฟฟิตก็จะเหมาะสมดี เพราะว่ามันไม่ได้ใช้งานหนักอะไรมาก แต่ถ้าเอามาชงขาย ถ้ามีการชงที่ต่อเนื่องมันค่อนข้างช้า และขาดความเสถียรภาพในเรื่องของความละเอียด อีกทั้งยังมีการฟุ้งกระจาย ทำให้เคาร์เตอร์ชงกาแฟเลอะเทอะค่อนข้างมาก ผมจึงไม่ค่อยได้แนะนำครับ เพาะเป็นที่รู้กันว่ามันมีอยู่ไม่กี่รุ่น ไม่กี่ยี่ห้อ ที่เป็นเครื่องชงพร้อมเครื่องบดในตัวเดียวกัน ซึ่งผมได้มีโอกาสทดสอบทุกรุ่นแล้วครับ แต่ถ้าเพื่อนจะซื้อก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของตัวเองเป็นหลักนะครับ

เครื่องทำกาแฟแบบออโต้ดีมั๊ย

เป็นอีกคำถามที่ชอบถามกันมาครับ โดยรวมแล้วเครื่องทำกาแฟแบบออโต้ดีครับ ผมเองยังชอบเลย เพราะสะดวกดี อยากกินกาแฟเมื่อไร ก็เอาแก้วไปรองแล้วก็กดปุ่ม ยืนรอบแป๊บนึงก็ได้กาแฟร้อนกินแล้วครับ ซึ่งเครื่องออโต้จะเหมาะกับรีสอร์ท ร้านอาหาร โรงแรม ที่ไม่ได้เน้นขายกาแฟมากนัก หรือออฟฟิต ที่เจ้านายต้องการเอาใจพนักงานให้มีกาแฟอร่อยๆ ทาน ฮ่า.... และสะดวกสบาย หรือจะเป็นร้านอาหารที่ขายอาหารเป็นหลัก และมีกาแฟร้อนให้บริการลูกค้า แบบนี้ก็ถือว่าเหมาะมาก เพราะใครๆ ก็ชงได้ เพียงแค่กดปุ่มครับ อย่างเช่นถ้าเพื่อนๆ มีร้านอาหารที่ขายอาหารเช้าแบบง่ายๆ ต้องการเพิ่มกาแฟร้อนดีๆ เข้าไปในเมนูจัดเซ็ท เครื่องทำกาแฟแบบออโต้ ก็ถือว่าเหมาะมากๆ เพียงแค่กดปุ่ม ทุกอย่างก็จบ

แต่ถ้าเพื่อนๆ ที่ต้องการทำร้านกาแฟ หรือขายกาแฟเป็นหลัก ผมไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่ามันช้า กว่าจะกลั่นกาแฟออกมาต้องรอครับ และที่สำคัญมันไม่เหมาะที่จะเอามาชงกาแฟเย็น เพราะว่ามันจะไม่เข้มข้นสะใจเท่าที่ควร แต่ถ้าจะเอามาชงขายจริงๆ ต้องเป็นเครื่องออโต้แบบคอมเมอร์เชียล แน่นอนว่าราคาไปหลักแสนปลายๆ ครับ ดังนั้นถ้าจะทำกาแฟเป็นเมนหลัก ก็ให้เลิกมองเครื่องออโต้ได้เลยครับ เพราะถ้าเอามาชงหนักๆ ปัญหาจุกจิกจะตามมาไม่รู้จบครับ

สรุป

สุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะใช้เครื่องทำกาแฟแบบไหน ถ้าเราขาดความพิถีพิถัน ขาดการดูแลใส่ใจ ขาดคุณภาพ และไม่มีเซอร์วิสมายด์ ธุรกิจกาแฟของเพื่อนๆ ก็ไม่อาจจะอยู่รอดได้ครับ ผมหวังว่าเพื่อนๆ จะได้ข้อคิดดีๆ จากบทความที่ผมเขียนไว้ในเว็บร้อยตะวันบ้างนะครับ กว่าจะพิมพ์เสร็จ พิมพ์ไปคิดไปก็ เหนื่อยนะครับ เพื่อนๆ ที่จะก๊อปปี้ไปเผยแพร่ก็ให้เครดิตบ้างนะครับ

ที่มา : roytawan.com