skip to main |
skip to sidebar
Dao Coffee Trip
ความจริงได้เคยไปไร่กาแฟในลาวหลายต่อหลายครั้ง แต่สำหรับไร่กาแฟดาวเรือง ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกเนื่องจากโดยปกติแล้วไร่กาแฟดาวเรืองไม่อนุญาติให้บุคคลภายนอกเข้าไปเยี่ยมชม คราวนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีครับ เป็นกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นไม่บ่อยนัก
ไร่กาแฟดาวเรืองเป็นไร่ขนาดใหญ่ มีการจัดการที่ดี ต้นกาแฟถูกปลูกเป็นแถวเป็นแนว ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 1.5 เมตร ไม้บังร่มที่เรียก canopy เลือกใช้ต้นขี้เหล็กเกือบทั้งหมด ด้วยเหตุที่มีใบเล็กปล่อยแสงแดดให้กับต้นกาแฟได้อย่างเพียงพอซ้ำใบที่ร่วงลงยังให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์อีกด้วย
กาแฟในลาวจะสุกก่อนบ้านเราประมาณ 2 เดือน ในช่วงนี้จึงเริ่มมีการทะยอยเก็บเกี่ยวกันแล้ว
น้องๆ ที่เก็บกาแฟเป็นชาวเวียดนาม ดูแล้วยังเด็กๆ อยู่เลยครับ
กาแฟในลาวเกือบทั้งหมดปลูกในที่ราบสูงโบโลเวน สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร อากาศเย็นและชุ่มชื้นเกือบทั้งปี เดินทางสะดวกเพราะเป็นที่ราบไม่เหมือนแหล่งปลูกบ้านเราที่เป็นเขาเป็นดอย ส่วนพันธุ์ที่ปลูกนั้นอราบิก้าเกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์คาติมอร์ ผมไม่แน่ใจว่าสายไหนแต่สังเกตุว่าจะเป็นคาติมอร์ที่แตกยอดเป็นสีน้ำตาลแดง ผิดกับบ้านเราที่ส่วนใหญ่จะแตกยอดใหม่เป็นสีเขียว
กาแฟของไร่ดาวเรือง ผลิตเป็นระดับอุตสาหกรรมแล้วครับ ปีหนึ่งๆ ส่งออกเมล็ดกาแฟดิบ 4-5 พันตัน เครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการจึงใหญ่โต ที่เห็นในภาพถังซีเมนต์ด้านบนซ้ายเป็นถัง demucilage เมื่อเมือกล่อนแล้วค่อยถูกถ่ายลงมาล้างแล้วจึงดูดขึ้นไปปล่อยใส่กระบะรถสิบล้อ เพื่อนำไปตากบนลานซีเมนต์ใหญ่ยักษ์ราวสนามฟุตบอลหลายสนามติดกัน
ปัจจุบันกาแฟดาว จำหน่ายทั้งเมล็ดกาแฟคั่ว บด กึ่งสำเร็จรูป ผงโกโก้ น้ำตาลทาย ครบวงจร เครื่องคั่วที่ใช้เป็น petroncini จากอิตาลีขนาดคั่วครั้งละ 25 กิโลกรัม แต่กำลังจะขยายทั้งโรงงานใหม่และเครื่องคั่วใหม่เป็น probat ขนาด 200 กิโลกรัมต่อครั้ง
ธุรกิจหลักของดาวเรืองคือกาแฟ แต่ใน สปป.ลาว ดาวเรืองยังดำเนินธุรกิจต่างๆ มากมายบางคนถึงกับเปรียบดาวเรืองเป็น ซีพีแห่งสปป.ลาว หากจำเพาะเรื่องของกาแฟได้กลายเป็นที่สนใจของทั้งคนไทย และในระดับนานาชาติด้วยการทำการตลาดอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการมีพื้นที่ปลูกเอื้ออำนวยมีดินที่เป็นดินภูเขาไฟ จึงทำให้รสชาติของกาแฟลาวได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ดาวเรืองยังได้รับความช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงความช่วยเหลือในการพัฒนาแปลงปลูกให้สามารถปลูกอราบิก้าสายพันธุ์ทิปปิก้าได้ ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้วแต่ยังมีปริมาณน้อยมากครับ
ที่มา : seat2cupcoffee.