18.5.09

ฉลากกาแฟบอกอะไร ?

ฉลากกาแฟบอกอะไร ?

ความลำบากประการหนึ่งของคนดื่มกาแฟคั่วในบ้านคือการเลือกซื้อเมล็ดกาแฟคั่ว บางคนใช้อับดุล..เอ้ย กูเกิ้ล บางคนถูกเพื่อนหรือญาติพี่น้องแนะนำต่อๆ กันมา บางคนซื้อตามซุปเปอร์มาร์เก็ต บางคนซื้อตรงจากโรงคั่ว และบางคนซื้อผ่านเว็บช็อป กาแฟคั่วช่างมีมากมายเหลือเกิน ทำอย่างไรจะได้กาแฟที่ถูกใจโดยที่ไม่ต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ

ผมมองว่าสิ่งที่น่าจะช่วยผู้บริโภคได้บ้าง คือข้อมูลจากฉลากบนซองกาแฟ เรื่องนี้คล้ายๆ กับฉลากบนขวดไวน์ แต่น่าเสียดายที่ฉลากส่วนใหญ่ให้ข้อมูลที่ลุ่มลึก และภาษาอ่านยากเกินไปโดยเฉพาะสำหรับมือใหม่
แต่อย่างน้อยผมยังอยากยกตัวอย่างข้อมูลบางประการที่อาจพบได้ ซึ่งสามารถช่วยในการเลือกซื้อกาแฟที่ถูกใจมากขึ้นดังนี้นะครับ

ชื่อผู้ผลิต ชื่อเบลนด์ รวมถึงสถานที่ติดต่อและที่ผลิตเป็นข้อมูลที่เราต้องดูไว้บ้างเพราะอาจพบกับผู้ผลิตที่มีชื่อเสียง และชื่อเคยผ่านหูมาบ้าง ส่วนชื่อเบลนด์นั้น บางแห่งก็ตั้งไว้ให้สื่อถึงรสชาติหรืออารมณ์ของกาแฟได้ บางชื่อยังแสดงถึงตัวตนของโรงคั่วด้วย เช่นเป็นฮิพโรสเตอร์ หรือเป็นโรสเตอร์แนวอนุรักษ์นิยม
ปริมาณกาแฟที่บรรจุ ซึ่งเราอาจพบว่าแต่ละโรงคั่วอาจบรรจุในปริมาณที่ต่างกัน เราต้องดูไว้บ้างเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานของเรา และอีกแง่หนึ่งเพื่อเปรียบเทียบราคา

ระดับการคั่ว โดยมากมีอ่อนกลางเข้ม หรือ light medium dark roast หรือ city full city vienna french roast หรือชื่ออื่นเช่น american cinemon roast ต่างๆ เหล่านี้ สามารถบอกแนวรสชาติได้เช่นหากยิ่งคั่วเข้ม หมายถึงเราจะได้รสขมมากขึ้น หากคั่วอ่อนจะได้กลิ่นหอมแต่เปรี้ยวมากขึ้น
วันที่คั่ว จะทำให้เราทราบว่ากาแฟซองนี้มีอายุเท่าไหร่แล้ว กาแฟยิ่งสดใหม่ยิ่งหอมอร่อย แต่บ่อยครั้งเราพบว่าผู้ผลิตหลายรายกลับระบุวันหมดอายุแทนซึ่งไม่ได้ให้ประโยชน์เท่าใดนัก

พันธุ์กาแฟที่ใช้ บางครั้งเราอาจพบข้อมูลเบื้องต้นเช่น อราบิก้า 100% หรือบางครั้งอาจให้ว่า อราบิก้าและโรบัสต้า แต่หากมีข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้นอาจระบุพันธุ์ย่อยของอราบิก้าไว้ด้วย เช่น เอสแอล28 คาทูร่า ทิปปิก้า พาคามาร่า ไกชา ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เราเทียบลักษณะเฉพาะของแต่ละสายพันธุ์ได้ในอนาคต
ขบวนการผลิตสารกาแฟที่ใช้ เช่นกระบวนการแบบเปียกหรือ wet process บางครั้งเรียกกาแฟล้างหรือ washed coffee จะให้รสชาติสะอาดใสกว่ากาแฟจาก dry process หรือ แบบ semi dry process ซึ่งจะมีความหวานและความเป็นผลไม้มากแต่ไม่ใสเท่า

แหล่งปลูกกาแฟ กาแฟแต่ละแหล่งมีบุคลิกรสชาติไม่เหมือนกัน การระบุแหล่งปลูกที่ชัดเจนจะทำให้เราได้ความรู้ และทำให้สามารถเลือกกาแฟได้ถูกใจได้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกาแฟจากบราซิลมักมีกลิ่นรสของถั่วและออกครีมๆ กาแฟจากเคนยาจะมีความเป็นผลไม้สูงมาก กาแฟจากอินโดนีเซียจะมีกลิ่นของเครื่องเทศมาก และหากกาแฟถุงนั้นเป็นกาแฟที่เบลนด์จากหลายแหล่ง การบอกแหล่งปลูกรวมถึงอัตราส่วนที่ใช้จะทำให้เราพอจะเห็นแนวโน้มของรสชาติของถุงนั้นได้ อย่างเช่นกาแฟเบลนด์จากบราซิล 50% กับเคนยา 50% น่าจะให้รสชาติที่เป็นผลไม้มาก มีกลิ่นหอมมาก ในขณะที่กาแฟเบลนด์จากบราซิล 50% กับสุมาตราอินโดฯ 50% น่าจะให้รสชาติแบบโทนต่ำ เมลโลกว่า และเป็นช็อคโกแล้ตมากกว่า

รสชาติที่ควรจะได้ หรือคัพโปรไฟล์ ของกาแฟในถุงนั้น อันนี้ควรระบุด้วยว่าเป็นคัพโปรไฟล์ของการชงดื่มด้วยวิธีใด เช่นการชงด้วยวิธีเอสเปรสโซอาจให้รสชาติบางอย่างต่างจากการชงแบบแช่น้ำ แต่ทั้งนี้เราต้องหมายเหตุไว้ว่าการชงกาแฟเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีปัจจัยประกอบมากมายมหาศาล โอกาสที่เมื่อเราชงออกมาได้รสชาติต่างจากที่ฉลากว่าไว้มีค่อนข้างมาก อย่างไรเสียน่าจะพอใช้เป็นแนวทางได้บ้าง

อื่นๆ เช่นคำแนะนำในการชงต่างๆ อุณหภูมิน้ำ ปริมาณกาแฟ หรือเทคนิคเฉพาะบางอย่างที่โรงคั่วอยากให้เราใช้เพื่อให้ได้รสชาติอย่างที่เขาต้องการนำเสนอ ส่วนข้อมูลอื่นๆ อีกอาจเป็นเรื่องราว หรือการแนะนำตัวสั้นๆ ของโรงคั่ว หรือตัวกาแฟที่อยู่ในถุงนั้น ถือเป็นมาร์เก็ตติ้งที่อาจใช้ประกอบในการเลือกซื้อได้ด้วย
เอาเท่านี้ก่อนนะครับ หวังว่าคงพอเป็นแนวให้กับท่านได้บ้าง หากพบข้อมูลบนฉลากที่น่าสนใจจะนำมาแบ่งปันเล่าให้ฟังกันบ้างก็ยินดีนะครับ