16.10.08

ที่มาของกาแฟและสาระเกี่ยวกับกาแฟ

ที่มาของกาแฟและสาระเกี่ยวกับกาแฟ

กาแฟ เป็นเครื่องดื่มที่ทำจากเมล็ดกาแฟคั่วซึ่งได้จากต้นกาแฟ นิยมดื่มร้อน ๆ แต่สามารถดื่มแบบเย็นได้ด้วย บางครั้งนิยมใส่นมหรือครีมลงในกาแฟด้วย ในกาแฟหนึ่งถ้วยมีคาเฟอีนอยู่ประมาณ 80-140 มิลลิกรัม กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับชาและน้ำ นอกจากนี้ กาแฟยังเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีการส่งออกมากเป็นอันดับที่หกของโลกเชื่อกันว่ากาแฟถูกค้นพบครั้งแรกโดยเด็กเลี้ยงแพะชาวอาบิสซีเนีย (ประเทศเอธิโอเปียในปัจจุบัน) ชื่อคาลดี จากการสังเกตพบว่า แพะดูกระปรี้กระเปร่าขึ้นเมื่อกินผลไม้สีแดงของต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งก็คือต้นกาแฟนั่นเอง. ในช่วงก่อนศตวรรษที่ 16 กาแฟถูกปลูกโดยชาวอาหรับเท่านั้น คำว่ากาแฟ เป็นคำที่มาจากคำว่า "เกาะหฺวะหฺ" ในภาษาอาหรับ แล้วเพี้ยนเป็น กาห์เวห์ ในภาษาตุรกี ก่อนที่จะกลายเป็น คอฟฟี ในภาษาอังกฤษ และกาแฟ ในภาษาไทย ชาวอาหรับหวงแหนพันธุ์กาแฟมาก จึงส่งออกเฉพาะเมล็ดกาแฟที่คั่วสุกแล้วเท่านั้น แต่ในที่สุดเมล็ดกาแฟก็ออกมาสู่โลกกว้าง โดยการลักลอบนำออกมาโดยชาวอินเดียที่ไปแสวงบุญที่เมกกะ และก็ได้แพร่ขยายไปยังชวา เนเธอร์แลนด์ และทั่วยุโรปในที่สุด. สำหรับทวีปอเมริกานั้น ต้นกาแฟถูกนำไปอย่างยากลำบาก โดยทหารเรือฝรั่งเศสในต้นศตวรรษที่ 18 ในครั้งแรกนั้น มีต้นกาแฟที่เหลือรอดชีวิตบนเรือมาขึ้นฝั่งอเมริกาได้เพียง 1 ต้น และก็ได้แพร่ขยายเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันดินแดนแห่งนี้ ได้กลายเป็นดินแดนที่ปลูกกาแฟมากที่สุดในโลก ชนิดของเมล็ดกาแฟ
กาแฟมีมากกว่า 6,000 พันธุ์ แต่พันธุ์หลัก ๆ ที่ได้รับความนิยมมี 2 พันธุ์ ได้แก่ อาราบิก้า (Arabica) ซึ่งเป็นกาแฟแบบดั้งเดิม และมีรสชาติดี และ โรบัสต้า (Robusta) ซึ่งมีปริมาณกาเฟอีนสูง และสามารถปลูกในที่ที่ปลูกอาราบิก้าไม่ได้ (คำว่า robust ในภาษาอังกฤษ แปลว่า ทนทาน) ด้วยความที่มีความทนทานมากกว่านี้เอง จึงทำให้กาแพโรบัสต้ามีราคาถูกกว่า แต่ผู้คนนิยมดื่มไม่มากนักเนื่องจากมีรสขมและเปรี้ยว ส่วนโรบัสต้าที่มีคุณภาพดีมักถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมของเอสเพรสโซ่ แบบผสม (เอสเพรสโซ่มีสองแบบใหญ่ ๆ คือแบบที่เป็นอาราบิก้าแท้ ๆ กับแบบที่ผสมกาแฟชนิดอื่น ๆ)กาแฟอาราบิก้ามักจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามชื่อท่าเรือที่ใช้ส่งออก ท่าเรือที่เก่าแก่ที่สุดสองที่ได้แก่ ม็อคค่า (Mocha) และ ชวา (Java) กาแฟในปัจจุบันยิ่งมีความเจาะจงในที่ปลูกมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องมีการระบุถึงประเทศ ภูมิภาค และบางครั้งต้องบอกว่าปลูกที่พื้นที่บริเวณไหนเลยทีเดียว ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกาแฟอาจจะถึงกับต้องประมูลกาแฟกัน โดยดูว่าเป็นล็อตหมายเลขเท่าใด กาแฟชนิดโรบัสต้าที่มีมูลค่าสูงที่สุดชนิดหนึ่งได้แก่ โกปิ ลูวัค (Kopi Luwak) ของอินโดนีเซีย เมล็ดของกาแฟชนิดนี้ถูกเก็บขึ้นมาจากมูลของชะมด (Common Palm Civet) (ตระกูล Paradoxirus)ซึ่งกระบวนการย่อยภายในร่างกายชะมดทำให้ได้รสชาติที่ดีเป็นพิเศษ เรียกเป็นภาษาไทยว่า กาแฟขี้ชะมด
กาแฟประเภทต่างๆ - กาแฟดำ ชงด้วยวิธีการหยดน้ำ อาจเป็นแบบให้น้ำซึมหรือแบบเฟรนช์เพรส เสิร์ฟโดยไม่ใส่นม อาจเติมน้ำตาลได้ ผู้คนมักเข้าใจผิดว่ากาแฟดำกับเอสเพรสโซเป็นอย่างเดียวกัน แต่ที่จริงแล้วกาแฟทั้งสองชนิดมีข้อแตกต่างกันหลายข้อ ข้อที่สำคัญคือ ถ้วยเสิร์ฟของเอสเพรสโซมีขนาดเล็กกว่า เพราะนิยมดื่มให้หมดในอึกเดียว ปกติแล้วเอสเพรสโซจะไม่ใส่น้ำตาลหรือนม และไม่นิยมคน เอสเพรสโซที่ชงถูกวิธีจะต้องมีฟองสีทองลอยอยู่ด้านบน รสชาติของเอสเพรสโซจะติดปากหลังจากดื่มนานกว่า (15-30 นาที) - กาแฟขาว (White coffee) เป็นกาแฟที่เติมนมเข้าไปหลังจากทำเสร็จ อาจเติมน้ำตาลด้วยก็ได้ - คาปูชิโน ประกอบด้วยเอสเพรสโซ, นมร้อน, และฟองนม ในสัดส่วนเท่าๆ กัน ให้รวมมีปริมาตร 4.5 ออนซ์ (เสิร์ฟในถ้วยขนาด 5 ออนซ์) ปกติจะตกแต่งด้วยผงอบเชย ลูกจันทน์เทศ (nutmeg) หรือโกโก้ - ลาเต้ เป็นเอสเพรสโซผสมนมร้อน ปกติมักโปะข้างบนด้วยฟองนม ความเข้มข้นไม่มากเท่าคาปูชิโนเนื่องจากใส่นมเยอะกว่า (ลาเต้ เป็นภาษาอิตาลีแปลว่านม ในอิตาลีเรียกลาเต้ว่า Caffè e latte หรือ caffelatte) Café au lait คล้ายลาเต้ยกเว้นใช้การชงด้วยการหยดแทนเอสเพรสโซ พร้อมด้วยนมในปริมาณที่เท่าๆ กัน อาจเติมน้ำตาลตามชอบ - อเมริกาโน ทำจากเอสเพรสโซ (หลายๆ ช็อต) กับน้ำร้อน เพื่อให้มีความเข้มข้นเท่ากับกาแฟที่ได้จากการชงแบบหยด แต่มีรสชาติต่างกัน - กาแฟเย็น มักเสิร์ฟพร้อมนมกับน้ำตาล - กาแฟแต่งกลิ่นและรส (Flavoured coffee) บางสังคมมักนิยมแต่งกลิ่นและรสกาแฟ ช็อกโกแลตเป็นสิ่งหนึ่งที่นิยมเติมกัน อาจโดยการโรยข้างบน หรือผสมเข้ากับกาแฟ เพื่อเลียนแบบรสชาติของมอคค่า รสอื่นๆ ที่นิยมเติมได้แก่เครื่องเทศต่างๆ เช่น อบเชย, ลูกจันทน์เทศ (nutmeg), กระวาน, และน้ำเชื่อมอิตาเลียน (Italian syrups) - กาแฟไอริช คือกาแฟที่ชงแล้วผสมด้วยวิสกี้ และมีชั้นของครีมอยู่ข้างบน - กาแฟกรองอินเดีย (มัทราส) (Indian (Madras) filter coffee) นิยมทั่วไปทางภาคใต้ของอินเดีย ทำจากกากกาแฟหยาบๆ ที่ได้จากเมล็ดที่ถูกอบจนไหม้ (อาราบิกา, พีเบอร์รี (PeaBerry)) ชงด้วยวิธีหยดประมาณสองถึงสามชั่วโมง ในตัวกรองโลหะแบบของอินเดียโดยเฉพาะ ก่อนที่จะนำไปเสิร์ฟกับนมและน้ำตาล โดยปกติมักมีสัดส่วนกาแฟหนึ่งนมสาม - กาแฟสไตล์เวียดนาม เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้จากการชงแบบหยด ชงโดยการหยดน้ำผ่านตะแกรงโลหะลงไปในถ้วย ซึ่งมีผลให้ได้น้ำกาแฟเข้มข้น จากนั้นนำไปเทผ่านน้ำแข็งลงไปในแก้วที่เติมนมข้นหวานไว้ก่อนแล้ว เนื่องจากการชงกาแฟประเภทนี้ใช้กากกาแฟปริมาณมาก จึงทำให้การชงกินระยะเวลานาน - กาแฟกรีก หรือ กาแฟตุรกี ชงด้วยการต้มกากกาแฟละเอียดกับน้ำพร้อมกันในไอบริก ซึ่งเป็นหม้อทำจากทองเหลืองหรือทองแดงมีด้ามยาวและเปิดด้านบน เมื่อชงเสร็จ ก็จะนำไปรินลงในด้วยเล็กๆ โดยไม่กรองกากกาแฟออก ตั้งกาแฟทิ้งไว้สักพักก่อนดื่ม มักเติมเครื่องเทศและน้ำตาลด้วย - โกปิทูบรูค (Kopi tubruk) เป็นกาแฟสไตล์อินโดนีเซียลักษณะเหมือนกับกาแฟกรีก แต่ชงจากเมล็ดกาแฟหยาบ และต้มพร้อมกับน้ำตาลปอนด์ปึกใหญ่ๆ นิยมดื่มในชวา, บาหลี, และบริเวณใกล้เคียง หม้อกาแฟ มีหลายรูปลักษณ์และขนาด หม้อแบบดั้งเดิมที่ใช้ต้มกาแฟมีคาเฟอีนจะมีสีน้ำตาลหรือดำ ส่วนหม้อสีส้มใช้สำหรับต้มกาแฟไร้คาเฟอีน
คุณประโยชน์กาแฟช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของตัวระงับความเจ็บปวด โดยเฉพาะในการรักษาไมเกรน และยังสามารถกำจัดโรคหืดในผู้ป่วยบางคนได้ด้วย คุณประโยชน์บางอย่างอาจส่งผลต่อเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น ตัวอย่างเช่น มันได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยลดการฆ่าตัวตายในผู้หญิง และช่วยป้องกันนิ่วและโรคถุงน้ำดีในผู้ชาย นอกจากนี้มันยังช่วยลดโอกาสเกิดโรคเบาหวานในทั้งสองเพศ และลดเพียงประมาณ 30% ในผู้หญิง แต่ลดมากกว่า 50% ในผู้ชาย กาแฟยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคตับแข็งและป้องกันมะเร็งในปลายลำไส้ใหญ่และกระเพาะปัสสาวะ กาแฟสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในเซลล์ตับ ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของมะเร็งตับ (Inoue, 2005) และสุดท้ายกาแฟช่วยลดโอกาสเกิดโรคหัวใจ ถึงแม้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เป็นเพราะมันกำจัดไขมันในเส้นเลือด หรือเพราะว่ามันเป็นมีผลกระตุ้นกันแน่ ยังมีข้อดีอื่น ๆ ที่เป็นเหตุผลให้คนส่วนใหญ่นิยมดื่มกาแฟ เช่น มันช่วยเพิ่มความจำระยะสั้น และเพิ่มไอคิว นอกจากนี้ยังช่วยเปลี่ยนระบบเมตาบอลิซึมให้มีสัดส่วนของลิพิดต่อคาร์โบไฮเดรตที่ถูกเผาผลาญสูงขึ้น ซึ่งช่วยลดอาการล้ากล้ามเนื้อของนักกีฬาคุณประโยชน์เหล่านี้บางอย่างจะได้ผลเมื่อดื่มเพียงประมาณ 4 ถ้วยต่อวัน (24 ออนซ์) แต่บางอย่างก็ต้องดื่มถึง 6 ถ้วยหรือมากกว่านั้น (32 ออนซ์หรือมากกว่า)
ความเสี่ยงผู้ที่ดื่มกาแฟหลายคนคงคุ้นเคยดีกับอาการ"ใจสั่น"อันเกิดมาจากกาแฟ ซึ่งเป็นอาการกระวนกระวายที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับคาเฟอีนมากเกินไป กาแฟยังเพิ่มความดันโลหิตให้กับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่ผลการศึกษาเพิ่มเติมก็ยังแสดงให้เห็นว่ามันช่วยลดอัตราเสี่ยงโดยรวมในการเกิดโรคหัวใจด้วย กาแฟยังทำให้เกิดโรคนอนไม่หลับในบางคน แต่ในทางกลับกันก็ช่วยให้บางคนหลับได้ดีขึ้น นอกจากนี้มันยังอาจทำให้เกิดความกังวลและอาการหงุดหงิดง่ายให้กับบางคนที่ดื่มมากเกินไป และบางคนก็เกิดอาการทางประสาท ผลกระทบบางอย่างของกาแฟก็เกิดขึ้นกับเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น มันทำให้อาการป่วยเลวร้ายลงในกรณีของผู้ป่วยประเภท PMS และยังลดความสามารถในการมีบุตรของสตรี และยังอาจเพิ่มอัตรเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกพรุนของผู้หญิงหลังวัยหมดระดู และยังอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์หากแม่ดื่มตั้งแต่ 8 ถ้วยต่อวันขึ้นไป (48 ออนซ์ขึ้นไป)ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ในประเทศเดนมาร์กได้มีการศึกษาสตรีจำนวน 18,478 คนซึ่งดื่มกาแฟเป็นปริมาณมากระหว่างตั้งครรภ์ พบว่ามันส่งผลให้อัตราเสี่ยงของการตายของทารกหลังคลอดเพิ่มขึ้นอย่างมาก (แต่ไม่มีผลกระทบต่ออัตราการตายในปีแรกของทารก) ในรายงานระบุว่า "ผลการศึกษาบ่งชี้ถึงผลกระทบจากการดื่มตั้งแต่ 4 ถึง 7 ถ้วยต่อวัน" คนที่ดื่ม 8 ถ้วยต่อวันขึ้นไป (48 ออนซ์ขึ้นไป) จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 220% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ดื่ม การศึกษานี้ยังไม่ได้มีการทำซ้ำให้แน่ใจ แต่ก็ทำให้แพทย์หลาย ๆ คนเพิ่มความระมัดระวังต่อการดื่มกาแฟมากเกินไปของสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ ผลการศึกษาตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2547 ใน American Journal of Clinical Nutrition [2] พยายามค้นหาว่าทำไมประโยชน์และโทษของกาแฟจึงได้ดูขัดกันเอง และได้ค้นพบว่าการดื่มกาแฟมีความเกี่ยวข้องกับการปรากฏชัดทางชีวเคมีของอาการอักเสบและเป็นผลกระทบที่รุนแรงของกาแฟต่อระบบหัวใจร่วมหลอดเลือด ซึ่งเป็นตัวอธิบายว่าทำไมกาแฟจึงได้มีผลดีต่อหัวใจเมื่อดื่มไม่เกินวันละ 4 ถ้วยเท่านั้น (ไม่เกิน 20 ออนซ์) คาเฟอีนเป็นเหมือนยาพิษหากเสพมากเกินไป อย่างไรก็ตามมันก็ไม่ใช่ยาพิษหากดื่มแบบปกติ แต่หากเสพในรูปเข้มข้น เช่น เป็นเม็ดหรือเป็นผง ในปริมาณที่มากพอ ก็อาจทำให้อาเจียน, หมดสติ, และอาจถึงขั้นเสียชีวิต

ที่มา :thaigoodview.com