ดื่มกาแฟอย่างไร ไม่เสียสุขภาพ
เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา กาแฟและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนถูกโจมตีว่า ทำให้เกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิต เป็นหมันทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์แท้งได้หรือทารกน้ำหนักน้อย เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งรังไข่ ซีสต์ในเต้านม และกระดูกพรุน แต่ข้อมูลการวิจัยในปัจจุบันเปิดเผยว่า การดื่มกาแฟเพียงวันละ 1-2 ถ้วยนั้นปลอดภัย และอาจให้ผลดี ถ้าดื่มให้เป็น
มีรายงานผลการวิจัยจากฟินแลนด์และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า คนที่ดื่มกาแฟมีความเสี่ยงการเกิดเบาหวานประเภท 2 น้อยกว่าคนที่ไม่ดื่ม ความเสี่ยงที่ลดลงเป็นสัดส่วนกับปริมาณกาแฟที่ดื่ม และกาแฟไร้คาเฟอีนให้ผลน้อยกว่า ส่วนชาไร้คาเฟอีนและเครื่องดื่มอื่นๆที่มีคาเฟอีนไม่ให้ผลเหมือนกาแฟ
นอกจากนี้กาแฟยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคพาร์คินสันลดอันตรายต่อตับในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคตับ ลดอาการหอบในผู้ที่มีโรคหอบหืด เพิ่มความจำและสำหรับนักกีฬาเพิ่มความทนและความอึดในกีฬาที่ต้องใช้เวลานาน
สำหรับผู้ที่ดื่มกาแฟเพราะต้องการแก้ง่วง แนะนำให้ดื่มปริมาณน้อยๆ แต่กระจายการดื่มออกไปตลอดวันเช่น แทนที่จะดื่มถ้วยใหญ่ 16 ออนซ์ (500 มล.) ในตอนเช้า ให้ดื่มเพียงครั้งละ 2 - 3 ออนซ์ (60 - 90 มล.)แต่บ่อยขึ้น กาแฟจะเริ่มออกฤทธิ์ใน 15 นาทีและจะอยู่ในร่างกายนานหลายชั่วโมง และต้องใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมงกว่าที่จะถูกขจัดออกจากร่างกาย
ของดีในกาแฟ
เมล็ดกาแฟมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาเขียวถึง 4 เท่า และยังมากกว่าโกโก้ ชาสมุนไพรและไวน์แดงอีก ที่มากกว่าเพราะผู้บริโภคดื่มกาแฟมากกว่าเครื่องดื่มอื่นๆ แต่สารต้านอนุมูลอิสระในกาแฟแต่ละถ้วยและแต่ละยี่ห้อนั้นก็ไม่เท่ากันขึ้นกับชนิดของกาแฟ
กาแฟพันธุ์โรบัสต้า (Robusta) มีสารต้านอนุมูลอิสระและคาเฟอีนมากกว่าพันธ์อราบิก้า (Arabicas) ถึง 2 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากวิธีการคั่วกาแฟ และปริมาณกาแฟที่ละลายแต่ละถ้วย รวมทั้งยังขึ้นอยู่กับวิธีการชงกาแฟ ระยะเวลาและปริมาณกาแฟที่ใช้ด้วย
ข้อควรระวังในกาแฟ
คอกาแฟอย่าเพิ่งย่ามใจกับข้อมูลด้านดีๆ เพราะองค์ประกอบหลักของกาแฟคือสารคาเฟอีนซึ่งเป็นสารกระตุ้น จึงมีผลต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจพอสมควร โดยทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เพิ่มความดันโลหิต และทำให้หัวใจเต้นผิดปกติในบางครั้ง งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยโทรอนโทเปิดเผยว่า การดื่มกาแฟมากอาจเพิ่มความเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลันในผู้ที่มียีนขจัดคาเฟอีนช้า ทำให้คาเฟอีนอยู่ในกระแสเลือดนานขึ้น แต่สำหรับคนที่มียีนปกติที่ขจัดคาเฟอีนได้เร็วกาแฟก็จะไม่มีผล
ส่วนผลของกาแฟต่อสุขภาพผู้หญิงก็ยังไม่มีผลวิจัยชัดเจน ว่าจะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม ซีสต์ในเต้านมหรือกระดูกพรุนหรือไม่ การเดินสายกลางจึงดีที่สุด ผู้ที่ดื่มกาแฟสกัดคาเฟอีน อาจคิดว่าปลอดภัย แต่นักวิจัยเตือนว่า กาแฟสกัดคาเฟอีนอาจเพิ่มระดับกรดไขมันในเลือดให้สร้างแอลดีแอล ซึ่งเป็นคอเลสเทอรอลตัวร้ายได้ เพราะในกระบวนการสกัดคาเฟอีนจะสกัดเอาสารเฟลโวนอยด์ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและสารอื่นๆ ที่ให้รสชาติกาแฟแท้ๆ ออกไปด้วย นอกจากจะอร่อยน้อยลงแล้วยังมีผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย
ที่มา : อสมท.